วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สถานการณ์ภัยแล้งยังวิกฤติ


ชาวสวนยางอีสานสุดเศร้าวิกฤติภัยแล้งและภาวะอากาศร้อนจัดส่งผลต้นยางยืนตายซากเป็นทิวแถว จังหวัดเลย เสียหายแล้วกว่า 60%

นครพนมสวนยางของ "ศุภชัย โพธิ์สุ" รมช.เกษตรตายแล้วนับร้อยต้น กรมวิชาการเกษตรระบุสาเหตุชัดเกิดจากต้นยางขาดน้ำภาวะราคายางที่พุ่งสูงขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ปี 2551 แม้จะลดลงช่วงต้นปี 2552 เล็กน้อยแต่ล่าสุดได้ปรับสูงขึ้นขณะนี้ทะลุกก.ละ 100 บาท เป็นความหวังของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแม้บางรายต้นยางจะยังไม่สามารถกรีดน้ำยางได้เพราะอายุเพิ่ง 4-5 ปี แต่พวกเขาหวังว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะสามารถกรีดยางและขายได้ราคาดี แต่ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นปีนี้ทำให้พวกเขาหมดความหวังเพราะอากาศที่แล้งและร้อนจัดทำให้ต้นยางที่ปลูกภายใต้โครงการยางล้านไร่ยืนตายซากเป็นจำนวนมาก
นายหล้า พรหมมาศ ประธานสหกรณ์สวนยางพาราผาน้อย จำกัด จังหวัดเลย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากภาวะความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนจัด ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในหลายจังหวัด โดยเฉพาะสมาชิกสหกรณ์สวนยางพาราผาน้อย จำกัด ซึ่งมีสมาชิก 500 กว่าราย ส่วนพื้นที่ปลูกยังไม่ได้รวบรวมอย่างเป็นทางการ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นขณะนี้คือต้นยางพารายืนตายซาก เพราะอากาศร้อนจัดและขาดแคลนน้ำ"พื้นที่ปลูกยางของสมาชิกสหกรณ์มีทั้งภายใต้โครงการยางล้านไร่ โครงการส่งเสริมปลูกของจังหวัด รวมถึงพื้นที่ที่สมาชิกปลูกเอง เฉพาะภายใต้โครงการยางล้านไร่มีประมาณ 2,570 ไร่ เวลานี้พื้นที่ปลูกทั้งหมดต้นยางยืนตายซากไปแล้วกว่า 60% ทำให้ชาวสวนยางต้องเดือดร้อนไปตามๆกัน เพราะไม่มีใครป้องกันไว้ล่วงหน้าเนื่องจากไม่คาดคิดว่าจะแห้งแล้งและร้อนจัดขนาดนี้ วันนี้ทุกคนได้แต่นั่งมองตากันปริบๆ จะไปซื้อน้ำมารดคงไม่คุ้มเพราะต้นยางอายุ 4-5 ปียังกรีดน้ำยางไม่ได้ ชาวสวนจึงยังไม่มีรายได้ และความหวังจะขายยางได้ราคาดีอีก 2-3 ปีข้างหน้าคงหมดหวังแล้วเพราะต้นยางตายไปมากแล้ว"นายหล้ากล่าวและว่าปีนี้นับได้ว่าเป็นปีที่แล้งสุดๆ เกษตรกรที่พอจะมีเงินบ้าง จะไปซื้อน้ำมารดสวนยางยังทำได้ลำบากเพราะน้ำในห้วย หนอง คลองบึงแห้งหมด สวนยางของผมประมาณ 300 ไร่ ต้องไปสูบน้ำระยะทาง 4-5 กิโลเมตรมาฉีดรดต้นยาง แต่เวลานี้ไม่มีน้ำให้สูบขึ้นมารดแล้วขณะที่นายชนะวงศ์ สมมุติ ประธานกลุ่มขายยางบ้านโพนงาม จังหวัดเลย กล่าวว่า ปกติแล้วหลังเทศกาลสงกรานต์ชาวสวนยางจะสามารถกรีดน้ำยางได้ แต่เวลานี้ชาวสวนที่มีพื้นที่ปลูกบนที่สูงอากาศร้อนและแล้งกรีดยางไม่ได้เลยเพราะฝนไม่ตก ส่วนสวนยางที่ลุ่มพอกรีดได้บ้างและขายได้ราคาดียางแผ่นดิบกก.ละ 108 บาท ขณะเดียวกันบริเวณบ้านโพนงามมีปัญหาต้นยางยืนตายซากจำนวนมากเหมือนกัน
ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)จังหวัดนครพนม กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จังหวัดนครพนม ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นเดียวกัน โดยมีพื้นที่ปลูกยางต้นยางขาดแคลนน้ำยืนตายซากจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีพื้นที่สวนยางของนายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสบกับต้นยางยืนตายซากเช่นเดียวกัน ซึ่งทางสำนักงานได้ประสานไปยังกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีความรู้ด้านวิชาการมาตรวจสอบสาเหตุต้นยางยืนตายซาก เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุหลักเกิดจากความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนจัด แม้ว่าต้นยางจะเกิดโรคราแป้งแต่ถ้ามีฝนตกลงมาโรคราแป้งจะหายไปได้ แต่เนื่องจากไม่มีฝนตกจึงทำให้ต้นยางตาย
นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบภัยแล้ง โดยอำนาจของสกย.จะให้ความช่วยเหลือสำหรับต้นยางที่กรีดแล้ว 1 ปี จึงจะใช้เงินกองทุนสงเคราะห์สวนยางได้ ส่วนยางที่ยังไม่ได้กรีดนั้นอาจต้องใช้งบภัยธรรมชาติของกระทรวงเข้าไปช่วยเหลือแหล่งข่าวจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552-26 เมษายน 2553 มีพื้นที่ประสบภัยแล้งรวมทั้งสิ้น 60 จังหวัด หากเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2552 พื้นที่ประสบภัยแล้งมากกว่าโดยปี 2552 ประสบภัยแล้ง 53 จังหวัด และหมู่บ้านประสบภัยแล้งมากกว่าถึง 8,018 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 584,366 ไร่ แยกเป็นพืชไร่ 377,264 ไร่ นาข้าว 73,897 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 133,205 ไร่

ขอบที่มา http://tonklagroup.blogspot.com/, และ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,526 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ไม่มีความคิดเห็น: