วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2551

ถึงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง?

333ถึงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง?
รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมานี้มี "ที่มา" จากมาตรา 336 อันเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ที่บัญญัติไว้ว่า "เมื่อครบห้าปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีอำนาจทำรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นได้" ขณะนี้ก็ใกล้เวลาที่จะ "ครบ" ห้าปีแห่งการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว ดังนั้น จึงมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ประเด็นส่วนใหญ่ที่นำมาถกเถียงหรืออภิปรายกันคงอยู่ที่ว่า สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้างซึ่งในประเด็นดังกล่าวทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารรวมทั้งองค์กรอิสระทั้งหลายต่างก็ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นในรัฐธรรมนูญ (ที่มีปัญหา) ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของตนและองค์กรอื่นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ "น่าสนใจ" กว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้าง น่าจะเป็นประเด็นว่า สมควรแล้วหรือยังที่จะ "แก้" รัฐธรรมนูญ และหากจะแก้รัฐธรรมนูญ ควรแก้ด้วย "วิธีใด" ระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเกิด "ความเปลี่ยนแปลง" ต่างๆมากมายในสังคมไทย คงจำกันได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2540) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่มีผลเป็นการ "ปฏิรูปการเมือง" มากที่สุดเพราะนอกจากจะจัดทำโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างแล้ว ยังมีสาระสำคัญที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญอื่นที่ผ่านมา กล่าวคือ มีการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น มีการกำหนดบทบาทของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศมากขึ้น มีการกำหนดมาตรการในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพกว่าที่ผ่านๆมา ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2540 ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายก็ตามมา มีการจัดตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอันได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นอกเหนือจากการจัดตั้งองค์กรต่างๆแล้ว การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาด้วยกระบวนการใหม่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน มีการออกกฎหมายต่างๆทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะกับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเพื่อขยายความบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรการต่างๆที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ถูกนำมาใช้หลายๆมาตรการไม่ว่าจะเป็นมาตรการในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ยิ่งวันก็ยิ่ง "เข้มข้น" ขึ้นเรื่อยๆไปจนกระทั่งมาตรการอื่นที่เป็นการเพิ่มบทบาทให้กับประชาชนให้มีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างเช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นต้น องค์กรและมาตรการทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปการเมืองเดินทางไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูบทบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญแล้ว ปัจจุบันยังพบว่า มีอีก "หลายอย่าง" ที่ยังไม่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ เริ่มจากกฎหมายจำนวนมาก ที่กำหนดไว้ในตอนท้ายของมาตราต่างๆจำนวนหลายมาตราว่า "ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" นอกเหนือจากกฎหมายแล้ว ขณะนี้เราก็ยังรอการเกิดขึ้นขององค์กรสำคัญอีกหลายองค์กร เช่น องค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 57 แห่งรัฐธรรมนูญ องค์กรที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการปกครองกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญ หรือมาตรการต่างๆที่ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการ "รอคอย" การเกิดขึ้นดังเช่นการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตามมาตรา 43 แห่งรัฐธรรมนูญ เป็นต้น จริงอยู่ แม้ระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการดำเนินการต่างๆขององค์กรและกระบวนการตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานมานี้ การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา การดูแลการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง การพิจารณาคดีความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น แต่การดำเนินการต่างๆเหล่านั้นก็เป็นเพียง "ตัวอย่าง" ที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเท่านั้นเพราะในบางกรณีเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ "ครั้งแรก" หรือ "ครั้งที่สอง" ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า ยิ่งมีการดำเนินการบ่อยครั้ง ผู้ดำเนินการก็จะมี "ความชำนาญ" ยิ่งขึ้นและ "มองเห็นปัญหา" ได้มากขึ้น ประเทศที่สมควรนำมาเป็น "กรณีศึกษา" ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือประเทศฝรั่งเศส รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่จนกระทั่งถึงวันนี้ เกิดขึ้นมาจาก "ความล้มเหลว" ในระบบการเมืองการปกครองของฝรั่งเศสที่ผ่านๆมา รัฐธรรมนูญประกาศใช้ในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.1958 และมีบทบัญญัติจำนวนมากที่มีผลเป็นการ "ปฏิรูปการเมือง" ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสถียรภาพในการทำงานให้กับฝ่ายบริหาร การจัดตั้งองค์กรตรวจสอบทางการเมือง และความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ตลอดระยะเวลา 40 ปีเศษของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประมาณไม่ถึง 10 ครั้ง แต่ละครั้งก็เป็นการ "แก้ไขย่อย" เช่น ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาและประชาคมยุโรป เป็นต้น จะมีการแก้ไขครั้งสำคัญที่มีผลทางการเมืองก็คือการตั้งองค์กรตรวจสอบทางการเมืองใหม่ขึ้นมา เนื่องจากองค์กรตรวจสอบเดิมตามรัฐธรรมนูญนั้นมีปัญหาและข้อบกพร่องในการทำงานเกิดขึ้นหลายครั้งทำให้ไม่สามารถ "ตรวจสอบ" ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ดังนั้น ในปี ค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) หรือ 35 ปีภายหลังจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญจึงได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียใหม่ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น บทเรียนของฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่น่าศึกษาและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1958 นั้น เกิดขึ้นมาด้วย "มูลเหตุ" ที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญไทย คือเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ของฝรั่งเศสค่อนข้างที่จะต่างจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญของไทยเพราะฝรั่งเศสใช้นักวิชาการจำนวนไม่กี่คนเข้ามาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีความยาวไม่ถึง 100 มาตรา และเสนอให้ประชาชนออกเสียงประชามติ จากนั้นรัฐบาลที่เข้ามาก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในรูปของ "รัฐกำหนด" รวม 19 ฉบับ เพื่อจัดตั้งสถาบันการเมืองต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ อีก 200 กว่าฉบับในรูปของ "รัฐกำหนด" เช่นกัน ดังนั้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 เดือน กลไกและองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นอย่าง "สมบูรณ์" และ "ครบถ้วน" คำถามที่ตามมาก็คือว่า ทำไมการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสจึงเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา และถึงแม้จะมีการแก้ไขแต่ก็เป็นการแก้ไข "เล็กน้อย" เท่านั้น คำตอบสำหรับกรณีดังกล่าวคงอยู่ที่ว่า ก็เพราะ "ความสั้น" ของรัฐธรรมนูญที่บรรจุเฉพาะเนื้อหาสาระที่เป็น "หลักสำคัญ" เท่านั้น เมื่อรัฐธรรมนูญบรรจุอยู่แต่เฉพาะ "หลักการ" ที่สำคัญ และหลักการดังกล่าวเป็น "หลักการขั้นพื้นฐาน" รายละเอียดปลีกย่อยของการดำเนินการตามหลักการดังกล่าวนั้นจะอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายธรรมดา ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งดังที่ยกตัวอย่างมา แม้ "สภาพ" ของรัฐธรรมนูญจะไม่เหมือนกันแต่ "วิธีคิด" ของฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่สมควรศึกษา เมื่อปี ค.ศ.1998 (พ.ศ.2541) ซึ่งเป็นปีที่รัฐธรรมนูญมีอายุครบ 40 ปี ก็เกิดกระแสความเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ "กระแส" เหล่านั้นเกิดขึ้นในวงการวิชาการ โดย "วารสารกฎหมายมหาชน" (revue du droit public) ได้จัดทำวารสารฉบับพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีรัฐธรรมนูญ วารสารดังกล่าวประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการ "สัมภาษณ์" ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงในอดีตถึงปัญหา อุปสรรค และข้อขัดข้องทางรัฐธรรมนูญและทางกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของคนเหล่านั้น กับในส่วนที่สองจะเป็นการนำเสนอบทความของนักวิชาการในประเด็นต่างๆของรัฐธรรมนูญว่ามีข้อบกพร่องหรือมีข้อดีอย่างไร เอกสารกว่า 500 หน้านี้เป็น "ผลพวง" ของการทำงานที่เข้าใจว่าน่าจะเกิดขึ้นล่วงหน้าเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี มีการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ จัดลำดับเรื่องเป็นหมวดหมู่ หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า ข้อมูลจากหนังสือนี้คงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรผู้ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องนำมาเป็น "ต้นแบบ" ในการทำงานต่อไป การเอาตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศสมานำเสนอในที่นี้มิได้มี "เจตนา" ที่จะ "เสนอ" ข้อเสนอที่มีผลเป็นการ "หน่วงเหนี่ยว" ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเราแต่ประการใด ในทางตรงข้าม การนำเสนอตัวอย่างของฝรั่งเศสก็เพื่อแสดงให้เห็นถึง "ประสบการณ์" ของประเทศหนึ่งที่ "ผ่าน" การปฏิรูปการเมืองมาถึง 40 ปี มีการใช้กระบวนการและกลไกต่างๆ มาแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง เพื่อปรับปรุงระบบให้สอดคล้องกับทางปฏิบัติและเพื่อแก้ปัญหาข้อบกพร่องที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญ และที่สำคัญที่สุดก็คือมีการ "ศึกษาค้นคว้า" อย่างเป็นระบบเพื่อเตรียมตัวแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า ประเทศไทยเราเพิ่งผ่านการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาได้เกือบ 5 ปีเท่านั้นเอง เกือบ 5 ปีที่ผ่านมานั้น ในบางครั้งแม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นจากองค์กรหรือกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นปัญหาที่ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นตลอดไปหรือไม่ หรือเป็นปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการมากกว่าเกิดจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สิ่งที่สมควรพิจารณาในปัจจุบันจึงมิใช่เรื่องที่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง แต่เป็นเรื่องสำคัญ 2 ปัญหาที่สมควรพิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่า ถึงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว หรือสมควรรอไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้องค์กรและกระบวนการตามรัฐธรรมนูญผ่าน "ประสบการณ์" มากกว่าปัจจุบัน อย่างไรก็ดี หากคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ควรจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรให้มีความเหมาะสมที่สุด ควรหา "ผู้ที่เป็นกลาง" มาทำการ "ศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ" ถึงประเด็นต่างๆ ของรัฐธรรมนูญว่ามีข้อบกพร่องเช่นไรหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ขอนำเสนอไว้ประกอบการพิจารณาเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญขององค์กรทั้ง 3 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) ที่มาตรา 336 แห่งรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจทำรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อครบห้าปีนับแต่วันประกาศใช้
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2545
26 มีนาคม 2551
รุมค้านแก้ม.237ถาวรท้าพลังแม้วเปิดชื่อคนล้มพปช.
“ถาวร” ค้านรัฐบาลจ่อแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ชัด ม.237 บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันนักการเมืองถอนทุนคืนจากประชาชน ด้าน “ปองพล” ฟันธงควรเร้งแก้มาตรา 266 แจงเหตุเพราะมีการใช้ตำแหน่งเข้าไปแทรกแซง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คืนวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเปิดประเด็นซักถามนายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายปองพล อดิเรกสาร อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และนายเดโช สวนานนท์ อดีตรองสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( สสร.) ถึงความชอบธรรมที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะยื่นเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งมาตรา 237 และพ่วงมาตราอื่นๆ โดยอ้างความชอบธรรม และไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ
โดย นายถาวร กล่าวว่า ในอดีต การเมืองที่สรกปกก็ คือ การเมืองถอนทุนคืน นั่นคือทุจริตคอร์รัปชั่น ก็จะถูกอ้างจนมีการปฏิวัติ แล้วย้อนกลับไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ ก็ไปซื้อตัว ส.ส.ส่งสงสมัครรับเลือกตั้ง นี่คือวงจรอุบาทว์ที่ทุกคนรับทราบ ดังนั้นจึงมีการคิดยาแรงกันมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อดูเจตนารมณ์ของการกำหนดโทษเพิกถอนสิทธิหัวหน้าพรรคการเมือง รวมทั้งการยุบพรรค เป็นผลเนื่องมาจากการที่พรรคเป็นนิติบุคคล จึงถือว่าหัวหน้าพรรคเป็นผู้แทนนิติบุคคล ส่วนกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้มีอำนาจบริหารพรรค ฉะนั้นหากสมาชิกพรรคกระทำการทุจริต บุคคลเหล่านี้ควรมีส่วนร่วมในการกระทำนั้น
“มาตรา 237 บัญญัติขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการถอนทุนคืนจากนักการเมือง ซึ่งกล้าสาบานหรือไม่ว่าเสียงข้างมากนั้นมาจากการซื้อเสียง เพราะ กกต.ก็มีการชี้มูลให้ใบแดง ประเด็นปัญหา คือ การที่ออกมาระบุว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เกิดจากพรรคกำลังจะถูกยุบเนื่องจากกรรมการบริหารพรรคโดนใบแดง และที่เขาบอกว่ามีคนจ้องเล่นงานพรรคพลังประชาชนนั้น อยากถามว่าใคร บอกได้หรือไม่ เพราะมาตรา 237 ใช้กับทุกพรรคการเมือง และที่ระบุถ้า 3 พรรคถูกยุบ แล้วจะทำให้การเมืองถึงทางตัน นั้น ผมคิดว่าถ้าเกิน 60-70 คน จนต้องเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ของพรรคที่ถูกยุบ และยังมีสิทธิ ก็สามารถรวมตัวกันตั้งพรรคใหม่ได้ และไม่ถือว่าฆ่าประเทศ เพราะรัฐบาล และสภายังอยู่ แต่ถ้าหากมีการปะทะกัน ก็อาจจะทำให้เกิดวิกฤติได้”นายถาวร กล่าว
นายถาวร ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่าจะมีการตัดวรรคสองออก ว่า ถ้ายกวรรคสองออก คือ จะไม่มีการยุบพรรค และเจ้าของเงินก็จะลอยนวล ซึ่งถ้าไม่ยุบพรรคการเมืองยอมรับได้ แต่กรรมการบริหารพรรคไม่ควรลอยนวล ซึ่งถ้าตัดทิ้ง 39 คนลอยนวล แต่คนที่ต้องรับกรรมคือนายยงยุทธ ติยะไพรัช วนการแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องทำประชามติหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติ หลังจากนั้นตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยให้คนที่เป็นกลางที่มีความรู้ในการออกแบบสร้างกติกาของประเทศ โดยไม่ได้ดูเพียงมาตรา 237 เพียงอย่างเดียว
ขณะที่ นายเดโช กล่าวว่า ความชอบธรรมในการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่ามีความจำเป็นที่จะแก้ไขหรือไม่ และจะแก้เฉพาะมาตราไม่ได้ เพราะจะต้องอธิบายเหตุผลให้ชัดเจน ซึ่งในอดีตผู้ร่างกฎหมายจะกำหนดการลงโทษเพื่อหยุดพฤติกรรม ฉะนั้นมาตรา 237 ก็คือการประหารชีวิตทางการเมือง ทำให้พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบ ซึ่งคณะปฏิวัติเขาคิดอย่างนั้น เพราะในภาวะบ้านเมืองวิกฤติสุดขีด เขาจึงต้องใช้ยาแรง แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่ถึงขนาดนั้นแล้ว แนวคิดหลักจะพัฒนาประเทศ พรรคการเมืองถือเป็นเรื่องใหญ่จะยุบไม่ได้
“หลักการในการแก้ไขในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น มันมีอยู่หลายข้อ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่สามารถยุบกลุ่มการเมืองได้ ฉะนั้นทางออกคือพรรคการเมือง เปลี่ยนเป็นกลุ่มการเมืองได้หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนเป็นกลุ่มการเมืองเวลาส่ง ส.ส.ลงสมัคร ได้หรือไม่ เราไปล็อคตรงที่ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ได้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จะไม่ต้องสังกัดพรรค โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 40 คือ ต้องการพัฒนาพรรคการเมือง ยุบพรรคยาก ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นแล้วบ้านเมืองจะพัฒนาอย่างไร ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ยุบพรรคก็ได้ และอาจจะเป็นการตีตนไปก่อนไข้”นายเดโช กล่าว
ด้าน นายปองพล กล่าวในฐานะผู้สนใจการเมือง ว่า ในชีวิตการเมืองผ่านการปฏิวัติมาหลายครั้ง โดยตนมองกติกา และยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น สามารถที่จะแก้ไขได้ เพราะถ้อยคำที่ระบุว่ามีหลักฐาน “อันควรเชื่อได้ว่า” ตนคิดว่ามันอ่อน และไม่ถูกต้อง ซึ่งถ้าตนแก้เอง ก็อยากจะระบุเอาไว้ว่า หลักฐานอันพิสูจน์ได้ชัดเจน ขณะเดียวกันควรจะแก้ในอีกหลายประเด็น เพราะควรจะทำให้เบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่ากรรมการบริหารพรรคทำผิด แล้วให้ถือว่าพรรคกระทำผิดด้วยนั้น เป็นไปได้ 2 ทาง คือ บางกรณีก็เกิดขึ้นได้ แต่บางกรณีก็ไม่ใช่
“ดังนั้นจึงควรมีการพิสูจน์ให้ชัดเจน และตนคิดว่าพรรคการเมืองไม่ควรถูกยุบ เพราะโทษไม่ควรแรงถึงขั้นยุบพรรค ทั้งนี้ผมไม่หวังว่าจะได้รับนิรโทษกรรม เพราะไม่ถึงกับตาย และสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่จะเอาวรรคสองออกไปทั้งหมด”นายปองพล กล่าว
นายปองพล กล่าวอีกว่า ในแง่ของประชาธิปไตย การแก้มาตราอื่นมีผลมากกว่าการแก้มาตรา 237 โดยเฉพาะมาตรา 266 ซึ่งระบุไว้ว่า ต้องไม่ใช้สถานนะ หรือตำแหน่งเข้าไปแทรกแซง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ถือว่าขัดหลักประชาธิปไตย ซึ่งคิดว่าร้ายแรงกว่ามาตรา 237 เพราะมาตราดังกล่าวมีผลต่อประชาชนทั้งสิ้น
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
24 มีนาคม 2551
คลังลั่นแก้กฎหมายรธน. ฟื้นความเชื่อมั่นต่างชาติ
สุรพงษ์ ลั่นแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญช่วยสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน รองรับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันยังมั่นใจว่าแผนปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการจะไม่เป็นตัวแปรเร่งอัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูง
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างร่วมงานสัมมนา “โรดแมพฟื้นเศรษฐกิจชาติ” ว่า แนวทางการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ คาดว่าจะมีข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ โดยยืนยันจะไม่เป็นส่วนสำคัญผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปอีก เพราะที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อเป็นผลมาจากราคาสินค้าสูงขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมันแพง แต่ไม่ใช่เป็นผลจากค่าแรงที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นห่วง เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อสูงแต่คนยังตกงาน
นอกจากนี้ ยังมองว่าการออกนโยบายต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาและการจัดสรรเงินโครงการกองทุนเอสเอ็มแอล จะกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่จะไม่เป็นส่วนสำคัญให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงเกินไป
ส่วนข้อเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะหากการเมืองมีปัญหาจะมีส่วนสำคัญต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้คงไม่ร้ายแรงเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา
สำหรับโดยแนวทางการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญจะเป็นแนวทางใดระหว่างแก้ไขทั้งฉบับหรือบางส่วน ต้องหารือกับทุกฝ่ายไม่ว่าพรรคการเมือง นักวิชาการ และประชาชน แต่สิ่งสำคัญจะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ รองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งจะส่งผลต่อประเทศต่าง ๆ มากขึ้นในช่วงกลางปี จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาการเมืองและมีผู้เข้ามาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

สาระสำคัญ พรบ.คอมพิวเตอร์

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ
1. เจ้าของไม่ให้เข้าระบบคอมพิวเตอร์ของเขา แล้วเราแอบเข้าไป..เจอคุก 6 เดือน (มาตรา 5)
2. แอบไปรู้วิธีการเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของชาวบ้าน แล้วเที่ยวไปโพนทะนาให้ชาวบ้านรู้.. เจอคุกไม่เกิน 1 ปี (มาตรา 6)
3. ข้อมูลของเขา เขาเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ดีๆแล้วแอบไปล้วงของเขา...เจอคุกไม่เกิน 2 ปี (มาตรา 7)
4. เขาส่งข้อมูลหากันผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบส่วนตั๊วส่วนตัว แล้วเราทะลึ่งบ๊องไปดักจับข้อมูลของเขา...เจอคุกไม่เกิน 3 ปี (มาตรา 8)
5. ข้อมูลของเขาอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเขาดีๆ เราดันมือบอนไปโมมันซะงั้น..เจอคุกไม่เกิน 5 ปี (มาตรา 9)
6. ระบบคอมพิวเตอร์ของชาวบ้านทำงานอยู่ดี ๆ เราดันยิง packet หรือ message หรือ virus หรือ trojan หรือ worm ทั้งหลายแหล่เข้าไปก่อกวนจนระบบเขาเดี้ยง..เจอคุกไม่เกิน 5 ปี (มาตรา 10)
7. เขาไม่ได้อยากได้ข้อมูลเราเล้ย เราก็ดันเจ้ากี้เจ้าการส่งให้เขาอยู่นั่นแหละ จนทำให้เขาเบื่อหน่ายรำคาญ....เจอปรับไม่เกินแสนบาท (มาตรา 11)
8. ถ้าเราผิดข้อ 5 กับข้อ 6 แล้วมันสร้างความพินาศใหญ่โตในระดับรากหญ้า งานนี้มีซวยแน่....เจอคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป (มาตรา 12)
9. ถ้าเราสร้างซอร์ฟแวร์เพื่อช่วยให้ใครๆทำเรื่องแย่ๆในข้อข้างบนๆได้...เจอคุกไม่เกินปีนึงเหมือนกัน (มาตรา 13)
10. โป๊ก็โดน,โกหกก็โดน,เบนโลก็โดน,ท้าทายอำนาจรัฐก็โดน...เจอคุกไม่เกิน 5 ปี (มาตรา 14)
11. ใครเป็นเจ้าของเว็บ แล้วยอมให้เกิดข้อ 10 ก็โดนด้วย...เจอคุกไม่เกิน 5 ปีเช่นเดียวกัน (มาตรา 15)
12. ถ้าเราเรียกให้ชาวบ้านมาดูงานของศิลปินข้างถนน ซึ่งชอบเอารูปชาวบ้านมาตัดต่อ
13. เตรียมใจไว้เลยมีโดน...เจอคุกไม่เกิน 3 ปี (มาตรา 16)
เราทำผิดที่เว็บไซต์ซึ่งอยู่เมืองนอก แต่ถ้าเราเป็นคนไทย อย่าคิดว่ารอดโดนด้วยเช่นเดียวกัน (มาตรา 17)
14.ฝรั่งทำผิดกับเราแล้วมันอยู่เมืองนอกแต่เราเป็นคนไทยก็เอาผิดกับมันได้เหมือนกัน (มาตรา 18)
by Legal Team
==================================