วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การปลูกพืชคลุมซีลูเลี่ยมให้ประสบความสำเร็จ

การปลูกพืชคลุมดินซีรูเลียมให้ประสบผลสำเร็จ
การปลูกยางพารานั้นจะประสบผลสำเร็จได้นอกจากจะต้องมีการเตรียมพื้นที่ การใช้พันธุ์ยางที่ดี และต้องบำรุงรักษาสวนยางอย่างสม่ำเสมอแล้ว การกำจัดวัชพืชก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมากและใช้ต้นทุนในอัตราสูง โดยเฉพาะสวนยางพาราในพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งการกำจัดวัชพืชจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากพบว่าตั้งแต่เริ่มปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา เกษตรกรส่วนหนึ่งที่ปลูกยางพาราไม่ประสบผลสำเร็จเพราะสวนยางได้รับความเสียหายจากการถูกไฟไหม้เป็นจำนวนมาก ส่วนสาเหตุเนื่องจากเกษตรกรปราบวัชพืชก่อนเข้าฤดูแล้งไม่ดี และทำทางป้องกันไฟแคบเกินไปหรือกวาดเศษใบไม้ไม่หมด การปราบวัชพืชจึงเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงเพราะจะต้องทำทุกปีตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเปิดกรีด โดยเฉพาะปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าราคาสารปราบวัชพืช ค่าน้ำมัน ตลอดจนค่าแรงงานได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก
ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพื้นที่ทำการเกษตรได้ผ่านการปลูกพืชไร่มาอย่างยาวนาน ไม่มีการคืนธาตุอาหารคืนกลับสู่ดินเลย อีกทั้งมีการใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินไป มีการไถพรวนทุกฤดูปลูกทำให้หน้าดินมีการชะล้างสูง และดินเสียสภาพโครงสร้างทำให้ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
การปลูกพืชคลุมดินในตระกูลถั่วในสวนยางพาราเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสามารถควบคุมวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินซึ่งได้จากการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และจากการย่อยสลายตัวของเศษซากพืชคลุมเป็นอินทรีย์วัตถุ เหล่านี้ เป็นผลทำให้การทำสวนยางสามารถได้รับผลผลิตเร็วขึ้นกว่าปกติ ประมาณ 6-12 เดือน เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง เพราะพืชคลุมดินตระกูลถั่วมีประโยชน์มากมายหลายด้าน คือ ช่วยป้องกันการชะล้างและการพังทะลายของดิน ควบคุมวัชพืช และจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการปลูกพืชคลุมดินพันธุ์ "ซีรูเลียม" จะให้ผลตอบแทนในระยะยาว เนื่องจากให้เศษซากสูงทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ไม่จำเป็นต้องไถกลบในแต่ละปี ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชได้มาก อีกทั้งเมล็ดเป็นที่ต้องการของตลาดสามารถจำหน่ายได้ในราคา 300-400 บาทต่อกิโลกรัม การดูแลรักษาสวนก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นต้นยางเจริญเติบโตได้ดีกว่าการไม่ปลูกพืชคลุม
ชื่อวิทยาศาสตร์(Scientific name)
ถั่วคลุมดินซีรูเลียมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าCalopogonium caeruleum(Benth.) Sauvalle
ชื่อพ้อง(Synonyms)
Calopogonium coeruleum (Benth.) Sauvalle Calopogonium coeruleum (Benth.) Sauvalle var. glabrescens (Benth.) Malme Calopogonium sericeum (Benth.) Chodat & Hassler Calopogonium sericeum (Benth.) Chodat & Hassler var. villicalyx Chodat & Hassler
Stenolobium caeruleum Benth.



ชื่อสามัญ(Common names)
ถั่วซีรูเลียมมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นดังนี้ bejuco culebra, bejuco de lavar, calopog"nio-perene, canela-araquan, chorreque, cip¢-araquan, cip¢-de-macaco, feijao-bravo, feijao-de-macaco, feijaozinho-da-mata, haba de burro, cama dulce.

ถิ่นกำเนิดและการกระจายตัว
ถั่วซีรูเลียมมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง( Central America) แถบประเทศเม็กซิโก( Mexico) อินดีส์ตะวันตก(West Indies) เขตร้อนตะวันออกตอนใต้ของอเมริกา( tropical South America) ไปจนถึงตอนใต้ของบราซิล( southern Brazil) ต่อมาก็มีการปลูกในออสเตรเลีย และแถบเอเชียตอนใต้ เช่นมาเลเซียและประเทศไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ซีรูเลียม(Calopogonium cearuleum (Benth.) Sauvalle ) เป็นพืชคลุมตระกูลถั่ว ประเภทเถาเลื้อยอายุข้ามปี ขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศในดินร่วนทรายและดินเหนียว ยกเว้นบนที่สูงเนื่องจากอากาศหนาวจัด ใบจะแห้ง ดอกและใบจะร่วง ลำต้น เลื้อยบนดินมีขนเห็นไม่ชัด ราก รากที่งอกจากเมล็ดจะเป็นรากแก้ว ส่วนของลำต้นที่สำผัสกับผิวดินจะแตกรากใกล้ข้อใบ เป็นชนิดรากฝอยเกาะยึดผิวดิน ช่วยตรึงในโตรเจนจากอากาศ ดอก สีม่วง ใบ มีสีเขียว เป็นมันค่อนข้างหนาคล้ายใบโพธิ์ เมล็ด มีขนาดใหญ่ เปลือกหุ้มเมล็ดหนา น้ำหนักหนึ่งกิโลกรัมมี 28,000 เมล็ดเป็นพืชคลุมที่ทนต่อโรคแลแมลง ทนต่อสภาพร่มเงาและความแห้งแล้ง
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของซีรูเลียม
ดิน(Soil)
ถั่วซีรูเลียมสามารถปรับตัวได้ดีในดินเกือบทุกประเภท และเติบโตได้ในระดับ pH
ของดินต่ำถึงระดับ 4.00
สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี ตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสฟอรัส
และปูนได้ดีแม้ในดินที่มีสภาพเป็นกรดและไม่ตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ย (acid infertile soils)

ความชื้น(Humidity)
สามารถปรับตัวได้ในเขตร้อนชื้นที่มีระดับปริมาณน้ำฝน 1,000-3,000 มิลิเมตรต่อปี อีกทั้งยังทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีฝนตกน้อยถึงระดับ 700 มิลิเมตรต่อปีนั้นคือทนแล้งกว่า
C.mucunoides and Pueraria phaseoloides

อุณหภูมิ(Temperature)
เติบโตได้ในเขตร้อนชื้นที่มีระดับอุณหภูมิสูงสุด 25 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด 18 องศาเซลเซียส ในตอนกลางวัน และจะมีข้อจำกัดในการเจริญเติบโตที่ระดับอุณหภูมิสูงสุด 35 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด 10 องศาเซลเซียส

แสง(Light)
ทนร่มเงาได้ดี แต่จะให้ผลผลิตเมื่อได้รับแสง 60-100 เปอร์เซ็นต์
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกพืชคลุมซีรูเลียม
การวางแผนกำหนดช่วงระยะเวลาในการปลูกที่เหมาะสมก็มีความสำคัญ เพราะว่าในเขตพื้นที่ปลูกยางใหม่ มีช่วงฤดูฝนเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ถ้าปลูกล่าช้าแล้วจะทำให้การเลื้อยของเถาถั่วไม่ทันที่จะคลุมได้เต็มพื้นที่ก็เข้าสู่ช่วงแล้งเสียก่อนทำให้ชะงักการเจริญเติบโต สู้วัชพืชไม่ได้จากการทดลอง และศึกษาจากการปลูกในพื้นที่จริงของเกษตรกร สามารถกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกได้ดังนี้
ระยะการเพาะต้นกล้า ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง เดือนมิถุนายน
ระยะการปลูก ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนสิงหาคม
ระยะเจริญเติบโต ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน
ระยะเริ่มออกดอกและติดฝัก ตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์
ระยะฝักแก่และเก็บเกี่ยว ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม
ทั้งนี้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตโดยเฉพาะช่วงเวลาการติดดอก ในแต่ละปีอาจจะเลื่อนช้าออกไปหรือเร็วขึ้นได้ตามช่วงแสงที่ต้นถั่วได้รับในแต่ละวัน นั้นคือถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็แล้วแต่ความหนาวจะมาเยือนเร็วหรือไม่นั่นเอง

ตารางแสดงช่วงเวลาการเจริญเติบโตออกดอก และติดฝักของพืชคลุมซีรูเลียม
เพาะกล้า ปลูก เจริญเติบโต เริ่มออกดอก ติดฝัก ฝักแก่และเก็บเกี่ยว
เม.ย พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ก.พ. มี.ค.

ข้อดี การปลูกพืชคลุมซีรูเลียม
1. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืชได้มากเนื่องจากพืชคลุมชนิดนี้เมื่อปลูกขึ้นแล้วจะช่วยควบคุมวัชพืชไม่ให้เกิดขึ้น ในฤดูแล้งก็ไม่ตายจึงไม่จำเป็นต้องไถสวนยางอีก ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการไถสวนยางได้มากปกติสวนยางโดยทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำเป็นจะต้องไถสวนยางเพื่อปราบวัชพืช อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปี จนกว่าสวนยางจะเปิดกรีดได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ 1,800 - 2,000 บาทต่อไร่ (คิดค่าจ้างไถครั้งละ 150 บาท/ไร่) แต่ถ้าเราปลูกพืชคลุมซีรูเลียมก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้
2. ต้นยางจะเจริญเติบโตดี เปิดกรีดได้เร็วกว่ากำหนด และให้น้ำยางมากกว่าสวนยางที่ไม่ปลูกพืชคลุมเนื่องจากสวนยางที่ปลูกพืชคลุมดินจะมีเศษซากของพืชคลุมช่วยเพิ่มธาตุอาหารและอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน ช่วยปรับสภาพดินให้กับดิน ดินจะโปร่ง
วิธีการปลูกและข้อเสนอแนะ
1. เมล็ดพืชคลุมชนิดนี้ในระยะแรกจะเจริญ เติบโตค่อนข้างช้า อาจจะเจริญเติบโตสู้วัชพืชไม่ได้จึงจำเป็นต้องเตรียมพื้นที่ให้ดี ควรจะไถพรวนและฉีดยาและคุมวัชพืชด้วยก่อนการปลูกพืชคลุม
2. แช่เมล็ดพืชคลุมด้วยน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 75 องศาเซลเซียส เวลา 12- 24 ชั่วโมง เทน้ำที่แช่ทิ้งแล้วห่อผ้าให้เมล็ดหมาดๆ แล้วจึงคลุกกับปุ๋ยหินฟอสเฟต(0-3-0) นำไปปลูกต้นฤดูฝน และควรปลูกให้หมดในแต่ละครั้ง แต่ถ้าใช้วิธีเพาะชำในถุงเพาะชำขนาด 2x4 นิ้ว ไว้ก่อนนำไปปลูกสามารถคัดเลือกเฉพาะเมล็ดที่อมน้ำและเปลือกนิ่มแล้ว โดยสังเกตได้จากเมล็ดมีขนาดพองโตขึ้นมาก นำไปหยอดในถุงชำ ถุงละ 2-3 เมล็ด ส่วนเมล็ดที่ยังแข็งอยู่ เรานำไปแช่น้ำอุ่นซ้ำโดยวิธีเดิมอีกรอบ จะได้เมล็ดพร้อมปลูกเพิ่มอีกมาก และเป็นการเพาะเมล็ดที่คุ้มค่ากับราคาเมล็ดที่ซื้อมาในราคาแพงอีกด้วย
3. ควรปลูกพืชคลุมห่างจากแถวยาง 2 เมตร ขึ้นไป และปลูกพืชคลุมเพียง 2-3 แถวโดยการปลูกเป็นหลุมห่างกันหลุมละ 50-75 เซนติเมตร ลึก 1-2 นิ้ว ใช้เมล็ดซีรูเลียม 2-3 เมล็ด/หลุม การปลูกตามวิธีนี้เมล็ดพืชคลุม 1 กิโลกรัมสามารถปลูกในสวนยางได้ประมาณ 4-5 ไร่
4. เมล็ดพืชคลุม ซีรูเลียม ราคากิโลกรัมละประมาณ 300 -450 บาท สามารถสอบถามจากสมาชิกที่ร่วมโครงการปลูกซีรูเลียมแล้วประสบผลสำเร็จ เช่นศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดชัยภูมิ หรือ ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดสุโขทัย เป็นต้น
ระยะในการวางแถวปลูก
แถวต้นยางx----------------------------------- 7 เมตร ------------------------------------------x
x-----2 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----2 ม.-----x ปลูกพืชคลุม 2-3 แถว
x-----2 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----2 ม.-----x
x -----2 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----1.5 ม.-----x 0 x-----2 ม-----x
x----------------------------------- 7 เมตร ----------------------------------------x

การบำรุงรักษาพืชคลุมดิน

อัตราอัตรา15 ก.ก./ไร่ ปีละ 2 ครั้ง
•เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จให้ไถ 2 แถบริมแถวยางเพื่อตัดเถา
แห้งกลบและป้องกันไฟเป็นการทำสาวโดยไม่ไถตรงโคนต้น
•หากต้องการผลผลิตสูงพ่นด้วยpaclobutrazole ความเข้มข้น500 ppm ช่วงออกดอด
•พ่นปุ๋ยสูตรคีเลท(แคลเซียม+โบรอน+ไนโตรเจน+อะมิโนแอซิด)
• 15 ซีซี ต่อน้ำ 10 ลิตรในช่วงออกดอกและติด
ฝัก 2 ครั้ง
•หากมีแมลงทำลายดอกและฝัก ป้องกันกำจัดโดยพ่นสารกำจัดแมลง 1-2 ครั้ง
การเก็บเกี่ยว
ใส่ปุ๋ยหินฟอสเฟตหลังจากปลูกพืชคลุม 1-2 เดือนอัตรา15 ก.ก./ไร่ ใส่ปุ๋ยบำรุงสูตร 15-15-15

หลังจากปลูก 1 ปีเริ่มให้ผลผลิตครั้งแรก โดยสังเกตสีของฝักเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล •ต้องทยอยเก็บเฉพาะฝักแก่ ใช้กรรไกรตัด กิ่งหนีบโคนช่อฝัก
•เก็บใส่ถุงพลาสติกมัดมากถุงให้เรียบร้อย
นำฝักไปตากแดดประมาณ 4 แดดเมล็ดจะดีดออกจากฝัก •ใช้กระด้งฝัดและพัดลมเป่าเศษเปลือกและสิ่งเจือปนออกให้หมด

การตัดแต่งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต

ไถตัดเถาถั่วที่เหี่ยวแห้งกลบเป็นปุ๋ยและเป็นการป้องกันเป็นเชื้อไฟในฤดูแล้ง โดยต้องไม่ไถให้ถูกบริเวณโคนต้นของถั่ว เพื่อต้นจะได้แตกแขนงเจริญเติบโตต่อไปในฤดูฝนที่มาถึง
เรื่อง /ภาพ: โกศล บุญคง
เอกสารอ้างอิง :
Calopogonium caeruleum[URL: http : //www.tropicalforages.info/key/Forages/Media/Html/Calopogonium_caeruleum.htm]
พัชรินทร์ วณิชย์อนันตกุล,วิมลรัตน์ ศุกรินทร์,สุธาชีพ ศุภเกสรและเกริกชัย ธนรักษ์,รายงานวิจัยการบังคับการออกดอกและติดเมล็ดของพืชคลุมซีรูเลียมด้วยสารการเจริญเติบโตพืช [ URL : http ://www.doa.go.thweb-itclibrarylibararyplant_protect46677.pdf]
วิชิต สุวรรณปรีชา, “ซีรูเลียมพืชคลุมที่ทนแล้ง” เอกสารวิชาการแผ่นพับเพื่อเผยแพร่ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง.

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การพัฒนาการผลิตยางพาราแบบครบวงจร

การพัฒนาการผลิตยางพาราแบบครบวงจร
ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตยางธรรมชาติของโลกเฉพาะในเชิงปริมาณเท่านั้น ไม่สามารถเป็น ผู้นำการผลิตในเชิงคุณภาพได้ เพราะยังมีปัญหา ในการผลิตและสินค้าที่ส่งออกยังคงอยู่ในรูปของยางดิบ เป็นส่วนใหญ่ การวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตยางให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น จึงมีความสำคัญสำหรับประเทศไทย เป็นอย่างมาก เพราะจะมีผลทำให้อุตสาหกรรมยางพาราเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้ให้ประเทศอย่าง ยั่งยืน แนวทางการวิจัยในปัจจุบันประกอบด้วย การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรแบบใหม่ เพื่อให้ สามารถผลิตยางธรรมชาติที่มีคุณสมบัติดี และมีคุณภาพสม่ำเสมอมากขึ้น การพัฒนากระบวนการผลิตที่มี ประสิทธิภาพปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดเวลาและการลดปริมาณ สารเคมีที่ใช้ในการทำให้ยางดิบสุกตัว ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มี มูลค่าสูงขึ้นก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งสำหรับวิจัย เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นการเพิ่มโอกาสและเป็นแนวทางในการสร้างตลาดใหม่ให้กับอุตสาหกรรมยางของไทยอีก ด้วย ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่กำลังพัฒนาได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติทนความร้อน ยางธรรมชาติทน น้ำมัน เฟอร์นิเจอร์จากยางธรรมชาติ รวมทั้งสารสกัดจากน้ำยางดิบที่นำไปใช้เป็นสารต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย และสารให้ความชุ่มชื้น เป็นต้น
.....................................................................................................
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หน้า 25 ประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2551

อย่า...ใช้พื้นที่นา ดินเค็ม ดินด่างปลูกยางไม่ได้ผล

อย่า...ใช้พื้นที่นา ดินเค็ม ดินด่างปลูกยางไม่ได้ผล ใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพ กรมฯ วิจัยแล้วปลูกได้ผลชัวร์ ให้น้ำยาง 25 ปี
ปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสม ต้นทุนสูง ย้ำ! ใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพที่กรมวิชาการเกษตรวิจัยแล้วปลูกได้ผล ให้น้ำยางถึง 25 ปี
นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรที่คิดจะปลูกยางในพื้นที่นา พื้นที่ดินเค็ม หรือดินด่าง แม้จะทำการยกร่องแล้วก็ตามจะปลูกไม่ได้ผล ต้นยางไม่โต แคระแกร็น แม้ช่วงแรกอาจเจริญเติบโตได้ดี แต่พอต้นยางมีขนาดโตขึ้น 4-5 ปี รากยางหยั่งลึกลงดินในช่วงฤดูฝนจึงเกิดปัญหาน้ำท่วมขังรากยาง มีผลทำให้ต้นยางยืนต้นตายในที่สุด นอกจากนี้ในพื้นที่ดินเค็มหรือดินด่างก็ไม่เหมาะสมและไม่แนะนำให้เกษตรกรปลูกยาง
จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยยาง ได้มีการสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับการปลูกยางในระดับต่างๆ เป็นรายอำเภอ รายจังหวัดของทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยได้ประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรได้ทราบทั่วกันมาโดยตลอด แต่เนื่องจากกระแสการปลูกยางพารามาแรงมากในขณะนี้ ประกอบกับราคายางที่พุ่งสูงทะลุ 100 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเหตุจูงใจให้เกษตรกรที่อยู่ทั่วทุกภาคหันมาปลูกยางมากขึ้น สถาบันวิจัยยางจึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบอีกครั้งเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น หากเกษตรกรปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมแล้วย่อมส่งผลกระทบและทำความเสียหายต่อการผลิตยางพาราและเศรษฐกิจของประเทศได้ นายสุขุมกล่าว

ทำปุ๋ยน้ำชีวภาพจากเศษอาหาร

ทำปุ๋ยน้ำชีวภาพจากเศษอาหาร

เงินลงทุน ประมาณ 1,000 บาท(กากน้ำตาลราคาแกลลอนละ 180 บาท (5 ลิตร) ถัง 200 ลิตร ราคา 120 บาท)
รายได้ ประมาณ 2,000 " 3,000 บาท/เดือน
วัสดุ/อุปกรณ์ ถังมีฝาปิด ถุงปุ๋ย กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดง หัวเชื้อจุลินทรีย์ ขยะเศษอาหาร
แหล่งจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ เชื้อจุลินทรีย์(มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า "พค.1") ขอรับได้ฟรีจากกรมพัฒนาที่ดินจังหวัดทุกแห่ง หรือซื้อได้ตามร้านเคมีภัณฑ์ (มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ไบโอนิค เอฟ 60 หรืออีเอ็ม)
วิธีดำเนินการ สูตรที่ 1 การทำปุ๋ยน้ำชีวภาพจากพืชส่วนผสม กากน้ำตาล 250 ซีซี เชื้อจุลินทรีย์ 250 ซีซี น้ำ 8 ลิตร วัตถุดิบ (เศษผัก ผลไม้หรืออาหาร) วิธีทำ 1. เติมน้ำ 8 ลิตรใส่ถัง2. เทกากน้ำตาลละลายน้ำ3. ใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์ แล้วปิดฝาทิ้งไว้ 2 วัน4. น้ำเศษอาหาร เศษผัก เปลือกผลไม้ ใส่ถุงปุ๋ย แล้วนำเชื้อจุลินทรีย์ใส่ในถุงปุ๋ย หากน้ำจุลินทรีย์ไม่มากพอที่จะท่วมเศษอาหารในถุงปุ๋ยให้เติมน้ำเปล่า และกากน้ำตาล (หรือน้ำตาลทรายแดง) ในสัดส่วน น้ำ 8 ลิตร กากน้ำตาล 250 ซีซี5. ทิ้งไว้ประมาณ 8 วัน ก็สามารถนำเอาน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพมาใช้งานได้สูตรที่ 2 ปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ได้จากปลาส่วนผสม ปลาเป็ดหรือปลาข้างเหลือง 40 กิโลกรัม กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม จุลินทรีย์ 200 กิโลกรัม วิธีการ 1. นำปลาเป็ดหรือปลาข้างเหลืองมาล้างความเค็มจากเนื้อปลา หากไม่ล้างเมื่อนำมาเป็นปุ๋ยดินจะเค็ม2. นำจุลินทรีย์ละลายในน้ำอุ่น 20 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 15 " 30 นาที อย่าให้น้ำนิ่ง จะได้มีอากาศถ่ายเทตลอด จุลินทรีย์สามารถทำปฏิกิริยากับเศษ อาหารได้ดีขึ้น3. ใส่ปลาสดลงในถัง 200 ลิตร เติมจุลินทรีย์ตามด้วยกากน้ำตาลและน้ำสะอาดใส่ให้ท่วมเนื้อปลา คนให้เข้ากันตั้งทิ้งไว้ ที่อุณหภูมิปกติโดยไม่ต้องปิดฝา 20 "30 วัน และต้องกวนให้เข้ากันวันละ 4 "5 ครั้ง ตลอดระยะเวลาในการหมัก 4. สังเกตว่าปลาย่อยสลายหมดแล้ว ปุ๋ยที่ได้จะมีลักษณะเป็นของเหลวข้นสีน้ำตาลเข้มหรืออาจยัง เหลือกากเล็กน้อย เติมน้ำให้เต็มถัง แล้วคนให้เข้ากันก่อนที่จะนำไปใช้5. หากต้องการนำปุ๋ยน้ำไปฉีดพ่นทางใบ ให้ผสมปุ๋ยน้ำชีวภาพ 1 ลิตรกับน้ำ 200 ลิตร แต่หาก ต้องการนำไปราดโคนต้น ให้ผสมปุ๋ยน้ำชีวภาพ 1 ลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตรตลาด/แหล่งจำหน่าย ตลาด ร้านขายต้นไม้สถานที่ให้คำปรึกษา กรมพัฒนาที่ดินจังหวัดทุกแห่ง และคณะวิชาพืชศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตจันทบุรี โทร. 0-3945-2387-8ข้อแนะนำ ประโยชน์ของน้ำจุลินทรีย์ สามารถดับกลิ่นเหม็นช่วยย่อยก๊าซไข่เน่าอันเกิดจากไขมัน โดยใช้ผสมน้ำอัตราส่วน 1 ต่อ 10 เทใส่ห้องส้วม ห้องน้ำ ห้องเก็บขยะ ท่อน้ำทิ้งร่องระบายน้ำ ทำให้น้ำใส ช่วยย่อยไขมันในบ่อดักไขมัน ถ้าใช้กับต้นไม้ให้ผสมน้ำ 200 ลิตรกับน้ำจุลินทรีย์ 1 แก้ว รดต้นไม้ทุก 3 หรือ 5 วันก็ได้
แหล่งที่มา กองส่งเสริมการมีงานทำ กรมการจัดหางาน

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
นายสุขุม วงษ์เอก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ยางพาราต้องการธาตุอาหารในปริมาณที่แตกต่างกันตามอายุชนิดของดินและพันธุ์ยาง หากเกษตรกรปลูกยางในดินที่มีสภาพเหมาะสมจะส่งผลให้เปิดกรีดได้เร็วและให้ผลตอบแทนสูง ดินจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิต ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใส่ปุ๋ยนอกเหนือจากการเลือกใช้พันธุ์ยาง และการจัดการสวนยาง ดังนั้น การใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นยางเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตจึงต้องคำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งเกี่ยวกับกับความสมดุลของธาตุอาหารในดิน ทั้งนี้เนื่องจากในการกรีดยางแต่ละครั้งจะมีการสูญเสียธาตุอาหารไปกับน้ำยาง หากไม่มีการใส่ปุ๋ยเพื่อชดเชยธาตุอาหาร จะทำให้ขาดความสมดุลของธาตุอาหารในดิน ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยางและการให้ผลผลิต ดังนั้น การใส่ปุ๋ยจึงต้องใส่ให้เหมาะสมกับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความต้องการของยางพารา หรือที่เรียกว่า ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
ผลจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยยาง โดย นางนุชนารถ กังพิศดาร ผู้อำนวยการส่วนการผลิตยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับสวนยางหลังเปิดกรีด ซึ่งจำเป็นจะต้องทราบว่า ดินที่ปลูกยางมีธาตุอาหารเท่าไร ต้องใส่ในปริมาณเท่าไรและต้องใส่อย่างไร วิธีการโดยเก็บตัวอย่างดินปลูกยาง เพื่อวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในดิน แปลผลวิเคราะห์ดิน และนำมาประเมินความต้องการธาตุอาหารที่ใส่ให้แก่ต้นยางโดยพิจารณาร่วมกับผลการทดลองปุ๋ยเพื่อแนะนำการใส่ปุ๋ย สามารถแนะนำได้ 12 แบบ พร้อมทั้งบอกปริมาณแม่ปุ๋ยที่นำมาผสมและอัตราปุ๋ยที่ใช้โดยเกษตรกรสามารถผสมปุ๋ยใช้ได้เองตามที่ต้องการ ที่นอกจากช่วยลดต้นทุนแล้วยังสามารถแก้ปัญหาปุ๋ยด้อยคุณภาพ ทั้งนี้การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นการใส่ปุ๋ยเฉพาะพื้นที่ ตรงกับความต้องการปริมาณธาตุอาหารของต้นยาง ช่วยลดต้นทุน และแก้ปัญหาปุ๋ยด้อยคุณภาพ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงสุด
นายสุขุม ยังเผยว่า การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินไม่ใช่เรื่องยุ่งยากสำหรับเกษตรกร เนื่องจากสถาบันวิจัยยางได้จัดทำคู่มือ พร้อมกับปัจจุบันมีจุดตรวจสอบดินอย่างง่าย ของภาควิชาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เกษตรกรสามารถตรวจสอบดินได้เอง ซึ่งขณะนี้ได้มีการขยายผลการดำเนินงานในบางพื้นที่แล้ว โดยเกษตรกรสามารถขอรับแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้ปุ๋ยในสวนยาง หรือขอคำแนะนำได้ที่ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร.0 2579 1576 หรือขอรับที่ศูนย์วิจัยยาง ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิต และสำนักตลาดกลางยางพารา กรมวิชาการเกษตร ตามจังหวัดต่างๆ หรือดูข้อมูลวิชาการ ติดตามราคายาง ถามปัญหาทางหน้าเว็บบอร์ดที่ www.rubberthai.com Call center 1174