วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การปลูกพืชแซมในสวนยางพารา

สวนยางแซมกล้วย สวนม.2ต.ซับสีทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
สวนยางแซมสัปรด ม.2 ต.ซับสีทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ(สูตรสำเร็จการสร้างสวนยางของชาวบ้าน)

การจะเลือกปลูกพืชแซมยางชนิดใดนั้น ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพในแต่ละท้องถิ่น(สภาพดินและภูมิอากาศ) และต้องเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการพอสมควร พืชแซมยางที่นิยมปลูกกันส่วนมากเป็นพืชอายุสั้น อาทิ ข้าวไร่, ข้าวโพดหวาน, กล้วย, สัปรด, ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง, ถั่วเขียว และพืชสวนครัว, ฯลฯ เมื่อลงมือปลูกก็ต้องรู้จักรักษาระยะห่างจากต้นยางเพื่อไม่ให้พืชแซมแย่งธาตุอาหารหรือคลุมต้นยางจนชะงักการเจริญเติบโต โดยยึดหลักกว้าง ๆ ดังนี้
ถ้าพืชแซมที่ปลูกเป็นพืชอายุสั้นและมีความสูงน้อยกว่าต้นยางพารา ให้ปลูกได้เต็มพื้นที่ ยกเว้นรอบโคนต้นยางพาราในรัศมี 1 เมตร แต่ถ้าเป็นพืชแซมที่สูงกว่าต้นยาง ก็จะต้องจัดการไม่ให้พืชแซมนั้นบังแสงแดดซึ่งเป๊นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง
การปลูกพืชไร่ ต้องปลูกให้ห่างจากแถวต้นยางพาราอย่างน้อย 1 เมตร
การปลูกหญ้ารูซี่ ต้องปลูกให้ห่างจากแถวต้นยางพาราอย่างน้อย 1.5 เมตร
การปลูกกล้วย, มะละกอ ต้องปลูกแถวเดียวตรงกึ่งกลางระหว่างแถวต้นยางพารา และปลูกพืชอายุสั้นในระบบผสมผสานได้
ไม่แนะนำให้ปลูกมันสำปะหลัง, ละหุ่ง, อ้อย
ต้องบำรุงดูแลให้ปุ๋ยพืชแซมตามหลักการหรือคำแนะนำของพืชแซมนั้น ๆ
เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตจากพืชแซมแล้ว ควรทิ้งเศษซากพืชแซมไว้ในที่เดิมหรือนำไปคลุมโคนต้นยาง (ให้ห่างจากโคนเล็กน้อย)
เมื่อเลิกปลูกพืชแซมแล้ว ควรปลูกพืชคลุมดินทันที

ปลูกกล้วยแซมยางพารา
พันธุ์ที่แนะนำและวิธีปลูก
กล้วยน้ำว้า
ให้ปลูกกึ่งกลางระหว่างแถวยางต้นยางพารา โดยมีระยะห่างระหว่างต้น 2.5 - 3 เมตร ควรไว้หน่อไม่เกิน 3 หน่อต่อหลุมเพื่อไม่ให้แย่งอาหารจากต้นเดิม
กล้วยไข่ ให้ปลูก 2 แถว ระหว่างแถวต้นยางพารา ให้มีระยะระหว่างแถว 2 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 2.5 - 3 เมตร ควรไว้หน่อไม่เกิน 3 หน่อต่อหลุม
กล้วยหอม ให้ปลูก 2 แถว ระหว่างแถวต้นยางพารา ให้มีระยะระหว่างแถว 2 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 2 - 2.5 เมตร ควรไว้หน่อไม่เกิน 2 หน่อต่อหลุม
กล้วยเล็บมือนาง ให้ปลูก 3 แถว ระหว่างแถวต้นยางพารา ระยะระหว่างแถว 2 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 2.5 เมตร ควรไว้หน่อไม่เกิน 3 หน่อต่อหลุม
ผลผลิต: ประมาณ 1,250 หวีต่อไร่ต่อปี

การปลูกสัปรดแซมระหว่างแถวต้นยางพารา
พันธุ์แนะนำและวิธีปลูก
พันธุ์ปัตตาเวีย: ปลูกแถวเดี่ยว ระยะระหว่างแถว 70 เซ็นติเมตร ระยะระหว่างต้น 50 เซ็นติเมตร (70x50) หรือปลูกแบบแถวคู่ โดยมีระยะห่างของแถวคู่ 100 เซ็นติเมตร ระยะระหว่างแถว 50 เซ็นติเมตร ระยะระหว่างต้น 30 เซ็นติเมตร (100x50x30)
พันธุ์ภูเก็ต: ปลูกแบบแถวคู่ โดยมีระยะห่างของแถวคู่ 120 เซ็นติเมตร ระยะระหว่างแถว 30 เซ็นติเมตร ระยะระหว่างต้น 30 เซ็นติเมตร (120x30x30)
ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
ระมัดระวังโรคยอดเน่าและรากเน่า
ผลผลิต: ประมาณ 2,400 ผลต่อไร่ต่อปี


ขอบคุณที่มาข้อมูลดีๆ http://www.live-rubber.com/

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กำนันนักสู้ชีวิต ผู้บุกเบิกยางพาราในพื้นที่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ















กำนันนักสู้ชีวิต ผู้บุกเบิกยางพาราในพื้นที่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ

เรื่อง/ภาพ โดย ทศพล จันทร์ชฎา





7ดาว : คืนมหัศจรรย์นอนนับดาว ที่มอหินขาว เสาหินมหัศจรรย์ จ.ชัยภูมิ
เสาหินยิ่งใหญ่ต้องยกให้ “มอหินขาว”จังหวัดชัยภูมิ ใครได้นอนนับดาวที่นี่จะรู้ว่าพลังมหัศจรรย์บนฟากฟ้าของดาวล้านดวงมีจริง
กลุ่มเสาหินสูงใหญ่เรียงรายที่อยู่บนสันเขาภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ ก่อกำเนิดทางธรณีวิทยามาจากแรงยกตัวของเปลือกโลก ผ่านวันเวลามานานนับสิบๆ ล้านปี ด้วยอิทธิพลของลมฝน อีกทั้งแสงแดด จนผุกร่อนมีรูปทรงแปลกตา ณ ยามราตรี เมื่อเหล่าดวงดาวนับล้านดวงโคจรอยู่เหนือกลุ่มหินมหัศจรรย์เหล่านี้ เกล็ดเพชรของทางช้างเผือกเหนือฟากฟ้าก็จะระยิบระยับราวกับอยู่ใกล้แค่เอื้อม
ช่วงเวลาที่ดีที่สุด : ช่วงเวลา 23.00 น. ถึงราวตี 2ฤดูกาลที่ดีที่สุด : ฤดูร้อนราวเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือน มีนาคมจุดชมวิวที่ดีที่สุด : กลุ่มหินมอหินขาวด้านทิศตะวันออกและตะวันตก
เส้นทางการเดินทาง จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 และ 2 ถึง อ.สีคิ้ว ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 201 ถึง จ.ชัยภูมิ แล้วใช้เส้นทางสู่น้ำตกตาดโตน ก่อนถึงเล็กน้อยมีทางแยกซ้ายเส้นทางสู่มอหินขาว
เขียนโดย นางสาว มะลิวัลย โทพิลา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่ ททท.สำนักงานนครราชสีมา โทร. 044 213 030, 044 213 666
อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ต.ห้วยต้อน อ. เมืองชัยภูมิ จ. ชัยภูมิ 36000
โทรศัพท์ 0 4481 0902-3 อีเมล reserve@dnp.go.th

หากเอ่ยถึงโฆษณาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตอน 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน
นี้น่าจะเป็นโฆษณาที่คนทั่วไปคงได้ยินได้ฟังจนติดหู เพราะพรีเซ็นเตอร์ระดับซุปเปอร์สตาของเมืองไทยที่ไม่มีใครไม่รู้จักมานอนนับดาวบนก้อนหินประหลาดนี้ ทำให้ใครต่อใครอยากจะมาบ้างและหลายคนคงได้เดินทางตามรอยพี่เบิร์ดกันบ้างแล้ว แต่ทีหลายคยังไม่รู้คือมอหินขาวอยู่ในเขตที่มีการปลูกยางพารามากอันดับต้นๆของจังหวัดชัภูมิและอยู่ในเขต ต.ซับสีทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เขตของกำนันนักสู้ชีวิตบุคคลต้นเรื่องในวันนี้

" ชัยภูมิทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่ มีช้างหลาย ดอกไม้งาม ลือนามวีรบุรุษ สุดยอดผ้าไหม พระใหญ่ทวาราวดี "
ข้อมูลทั่วไป :
ชัยภูมิ ตั้งอยู่บนสันขอบที่ราบสูงอีสาน ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับภาคกลางและภาคเหนือ เป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกกระเจียวแสนงาม และสายน้ำตกชุ่มฉ่ำยามหน้าฝน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มีเทือกเขาที่สำคัญได้แก่ ภูพังเหย ภูแลนคา ภูพญาฝ่อ อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำชี
ด้านประวัติศาสตร์ ชัยภูมิมีอารยธรรมซ้อนทับกันหลายสมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยขอม จนถึงอิทธิพลลาวล้านช้าง มีการค้นพบโบราณสถานโบราณวัตถุมากมายในหลายพื้นที่ของจังหวัด ต่อมาปรากฏชื่อเป็นเมืองหน้าด่านในสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังจึงร้างไป และมาปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีชาวเวียงจันทน์เข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง มีผู้นำชื่อ แล ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ
ชัยภูมิ เป็นเมืองที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมาคู่กับเมืองบุรีรัมย์ มาปรากฏชื่อทางประวัติศาสตร์อีกครั้ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีชาวเมืองเวียงจันทน์มีนายแลเป็นหัวหน้าพากันมาตั้งหลักปักฐานในบริเวณที่เรียกว่า โนนน้ำอ้อม และคงใช้ชื่อเมืองตามเมืองเดิมว่าชัยภูมิ ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ก่อการกบฎยกกองทัพเข้ามาตีเมืองนครราชสีมาและหัวเมืองรายทาง นายแลเจ้าเมืองชัยภูมิได้ยกไพร่พลไปสมทบกับกำลังของคุณหญิงโม ตีทัพของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์แตกพ่ายไปได้ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี และให้นายแลเป็นพระยาภักดีชุมพล เจ้าเมืองชัยภูมิคนต่อมาที่สืบเชื้อสายมาจากพระยาภักดีชุมพล (แล) ก็ยังคงใช้ราชทินนามว่า พระยาภักดีชุมพล
ในปัจจุบัน ชัยภูมิเป็นจังหวัดที่น่าท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยภูมิคือ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย มัดหมี่ หมอนขิต ผ้าขิต และสินค้าเมืองที่ทำจากผ้าทอมือ เป็นต้น

ลักษณะภูมิศาสตร์ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิประกอบด้วยภูเขาและป่าไม้ร้อยละ 50 % นอกจากนั้นเป็นที่ราบสูง พื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ด้วยทิวเขาที่ทอดผ่านกลางพื้นที่ ของจังหวัดจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกด้วยภูหยวก ภูอีเฒ่า ภูแลนคา ภูพังเหย เชื่อมต่อกับ ภูพระยาฝ่อ อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขา เพชรบูรณ์ ที่ทอดตัวเลาะเขตแดนทางทิศตะวันตกจากอำเภอเทพสถิตผ่านอำเภอหนองบัวแดง ไปถึงอำเภอคอนสาร มีแม่น้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำชี ที่มีต้นกำเนิดของแม่น้ำอยู่ในป่าดงดิบในเขตอำเภอหนองบัวแดงและแม่น้ำพรม ซึ่งมีต้นกำเนิดของแม่น้ำอยู่ในเขตป่าดงดิบอำเภอคอนสารถือเป็น แม่น้ำสำคัญของภาคอีสานด้วย ลักษณะภูมิอากาศ จังหวัดชัยภูมิอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนมี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี อยู่ระหว่าง 26.6 - 27.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง 10.5 - 13.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิ สูงสุดอยู่ใน ช่วงระหว่าง 32.6 - 4.06 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ในช่วง 989.8 - 1,446.7 มิลลิเมตรต่อปี การปกครอง จังหวัดชัยภูมิแบ่งการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ
1. อำเภอเมือง
2. อำเภอคอนสวรรค์
3. อำเภอหนองบัวแดง
4. อำเภอภูเขียว
5. อำเภอคอนสาร
6. อำเภอแก้งคร้อ
7. อำเภอเกษตรสมบูรณ์
8. อำเภอบ้านแท่น
9. อำเภอบ้านเขว้า
10. อำเภอจัตุรัส
11. อำเภอบำเหน็จณรงค์
12. อำเภอเทพสถิต
13. อำเภอหนองบัวระเหว
14. อำเภอภักดีชุมพล
15. อำเภอเนินสง่า
16. อำเภอซับใหญ่


ประวัติความเป็นมา : ของตำบลซับสีทอง
ตำบลซับสีทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ (เดิมอยู่ในเขตอ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ต่อมาได้โอนมาขึ้นกับอ.เมืองชัยภูมิตามประกาศใรพระราชกิจจานุเบกษาฉบับในกฤษฎีกา เล่มที่ 119 ตอนที่ 59 ก วันที่ 6 มิถุนายน 2545) เริ่มจากการอพยพของราษฎรเข้ามาบุกเบิกเพื่อทำไร่ เนื่องจากบริเวณแห่งนี้เป็นที่ราบบนภูเขาที่มีป่าไม้และพื้นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เดิมมีหมู่บ้านในตำบลนี้จำนวน 6 หมู่บ้าน ในปี 2532 ได้แยกออกจากตำบลโนนกอก เป็นตำบลซับสีทอง ได้มีหมู่บ้านเพิ่มขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันมีจำนวน 13 หมู่บ้าน กำนันคนแรกคือ นายสง่า จันทร์เบ้า ปัจจุบันคือ นายสุภาษ สิมาชัย(2553 ถึง ปัจจุบัน)
สภาพทั่วไปของตำบล :
ตำบลซับสีทองตั้งอยู่บนที่ราบภูเขาแลนคา ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำไร่ สวนผลไม้ ทำไร่อ้อย มันสำปะหลัง
อาณาเขตตำบล :
ทิศเหนือ จรดตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ทิศใต้ จรดตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อทิศตะวันออก จรดตำบลโนนกอก อำเภอเกษตรสมบูรณ์ทิศตะวันตก จรดตำบลท่าหินโงม อำเภอเมืองชัยภูมิ
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ :
มอหินขาว “สโตนเฮนจ์เมืองไทย”




ป่าปรงพันปีแหล่งใหญ่สุดในไทย “ท้าสัมผัสภูคลีจุดสูงสุดแผ่นดินใจกลางเมืองชัยภูมิ”



ข้อมูลอาชีพของตำบล :
อาชีพหลัก ทำสวน/ทำไร่อาชีพเสริม ค้าขายและรับจ้าง



ยางพาราเข้ามาได้อย่างไรและเมื่อไหร่ ? คือคำถามที่ทุกคนอยากรู้








กำนันอ้ากนักสู้ชีวิตและภรรยาคู่ชีวิต ผู้บุกเบิกยางพาราในพืนที่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ(ร่วมออกงานนิทรรศการงานกาชาดปี 2553 ร่วมกับศปจ.ชัยภูมิ)



แรกเริ่มคุณตาอ้ม(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ตาของคุณประณอม สิมาชัย ภรรยาของนายสุภาษ สิมาชัย (กำนันอ้าก) เริ่มเข้าจับจองมาบุกเบิกทำไร่ที่บ้านห้วยแคนน้อย หมู่ 1 ต.ซับสีทอง เมื่อประมาณปี 2515 โดยพาครอบครัว ลูกๆ อพยพขึ้นมาบนเขาซับสีทองเนื่องจากบริเวณแห่งนี้เป็นที่ราบบนภูเขาที่มีป่าไม้และพื้นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเกษตร ซึ่งในขณะนั้นคุณประณอม สิมาชัย พึ่งจะจำความได้และได้ประกอบอาชีพการเกษตรทำไร่ปลูกลูกเดือย ข้าวโพดเลี้ยงครอบครัวตลอดมา
จนถึงปี 2532คุณตาอ้มผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นเริ่มมองหาอาชีพใหม่ที่ยั่งยืนกว่าการทำไร่ข้าวโพดจึงได้ร่วมกับชาวบ้านประมาณ 5-6 คนเดนทางไปดูการปลูกยางพาราที่ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ และได้เห็นว่าในพื้นที่เขตอำเภอบ้านกรวดที่มีสภาพพื้นที่แห้งแล้งและอุดมสมบูณ์น้อยกว่าที่บ้านของตนยังสามารถปลูกยางพาราได้ จึงตัดสินใจซื้อเมล็ดยางพารามาปลูกที่บ้านนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปลูกยางพาราในเขตตำบลซับสีทอง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
กำนันอ้าก(หลานเขยของผู้ใหญ่อ้ม)กับคุณตาอ้มพร้อมกับเพื่อนบ้านที่ไปดูงานด้วยกันได้ตัดสินใจนำเมล็ดยางมาเพาะในแปลงเพาะเมล็ดเมื่อเมล็ดงอกได้นำมาปลูกในแปลงยาง(แปลงยางใหญ่ปัจจุบัน)โดยปลูกระยะ 2.5 X 8 เมตรพื้นที่ 30 ไร่ เวลาผ่านไปกว่า 2 ปี(ซึ่งตอนนั้นต้นยางมีขนาดเท่าแขนแล้ว กำนันอ้ากกล่าว) จึงได้จ้างเจ้าหน้าที่เกษตรจากอำเภอบ้านกรวดมาช่วยติดตาในแปลงให้(กลายเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ภาคอีสานไปแล้ว) หลังจากนั้นก็ยังปลูกมันสำปะหลังแซมอย่างต่อเนื่องจนรู้สึกว่ามันไม่มีหัวแล้วโดยไม่ได้ทำการดูแลใส่ปุ๋ยแต่อย่างใด หลังจากนั้นกำนันอ้ากได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย และคุณประณอม(คุณนายซาอุ) แม่บ้านก็ได้ตั้งท้องบุตรชายคนโตพอดี ก็ได้ส่งเงินมาเพื่อใช้จ่ายในระหว่างที่รอผลิตจากสวนยางพาราต่อไปวันเวลาผ่านไปกว่า 8 ปีกำนันอ้ากหลังจากที่ผ่านมรสุมชีวิตมามากมายในต่างแดน(อันนี้ต้องมาฟังจากเจ้าตัวอง เซ็นเซอร์สนุกมาก) ก็ได้กลับจากซาอุกลับสู่ประเทศไทยสวนยางที่ปลูกสร้างใว้ก็เติบโตขึ้นจนมีขนาดที่พอจะเปิดกรีดได้อายุยางก็ปาเข้าไป 9 ปีแล้ว ขณะเดียวกันสวนยางของเพื่อนบ้านก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นสวนมะขามหวาน สับปะรด ไร่อ้อยไปหมดแล้วบางรายก็ปล่อยไฟไหม้สวนไปหมดอาจเพราะด้วยความไม่มันใจในเรื่องผลผลิตและทนฟังเพื่อนบ้านดูถูกไม่ไหว หลงเหลือจริงๆอยู่ไม่กี่คนพ่อใหญ่ไพร พ่อใหญพรหมมาบ้านห้วยหมากแดง ต.ท่าหินโงม ตำบลติดต่อกันกับซับสีทองนั่นเอง
ปี 2541 กำนันอ้ากก็ได้ว่าจ้างเจ้าเดินเจ้าหน้าที่เกษตรจากบ้านกรวดบุรีรัมย์มาเปิดกรีดให้และสอนกรีดแต่ผลผลิตทั้งปียังน้อยอยู่ประมาณ 200กิโลกรัมยังไม่มีที่จะขายต่อมาอ่านหนังสือพิมพ์เจอ สำนักงาน สกย.จ.ขอนแก่นจึงได้จุดประกายนำยางไปขายที่จ.ขอนแก่นพร้อมกับพรรคพวกตอนนั้นยางเก็บจนดำหมดแล้ว เมื่อขายไปราคาในขณะนั้น 27.50 บาทเงินก้อนแรกที่ได้รับทำให้กำนันอ้ากเชื่อมั่นว่ายางจะเปลี่ยนชีวิตได้จริง หลังจากนั้นก็ได้วิ่งหาอุปกรณ์ ถ้วยน้ำยาง ลวด ลิ้น อุปกรณ์กรีดยางจาก จ.ระยอง พร้อมจ้างคนงานกรีดยางจากระยอง(คนแถวบ้านที่ไปรับจ้างกรีดยางที่จ.ระยอง) มากรีดประมาณ 1 ปี






ภาพภายในโรงเก็บยางด้านหลังบ้านซึ่งขยายรองรับผลผลิตที่กำลังเพิ่มขึ้น









สวนยางแปลงแรกอายุ 21 ปี ปลูกระยะ 2.5 X 8 เมตร




ปี 2542 สกย.จ.ขอนแก่นได้มาจัดอบรมกรีดยางและการทำยางแผ่นให้เจ้าของสวนยางที่สวนยางพารา จากนั้สองสามีภรรยาได้ลงมือกรีดยางเองเป็นเวลากว่า 3 ปี ต่อมาประมาณปี 2545-2546 เกษตรอำเภอคอนสาร นายเมธา ถนอมพันธุ์ได้เข้ามาจัดฝึกอบรมรุ่นแรกมีผู้สนใจเข้าอบรมเกือบ 30 คนเป็นการจุดประกายให้คนได้เริ่มรู้จักมากขึ้น







ยางแปลงเล็กปลูกปี2547 เริ่มเปิดกรีดในปี2553 อายุ 6 ปี






ปี 2547 กำนันอ้ากเริ่มขยายพื้นที่ปลูกยางพาราที่ว่างบริเวณหลังบ้านนั่นเองกว่า 4,500 ต้น ก่อนที่โครงการยางล้านไร่จะเข้ามาถึงพื้นที่เขตนี้อีกนับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของกำนันนักสู้ผู้นี้












กางบัญชีให้ดูเลย 5 ตุลาคม 2553 เถ้าแก่ 63,736 บาท ลูกน้อง 48,822 บาท(ราคายาง 100.50 บาท)










ปัจจุบันสวนยางสวนยางแปลงเล็กได้ทยอยเริ่มเปิดกรีดแล้ว 1,500 ต้นและจะเริ่มทยอยเปิดกรีดเรื่อยๆในปีถัดไปซึ่งสามาถเปิดกรีดได้เร็วก่อน 7 ปีและเร็วกว่าแปลงแรกถึง 3 ปี เผยเคล็ดลับให้ฟังว่ายางแปลงนี้ดูแลเหมือนลูกเลยและทำด้วยความมั่นใจและทุ่มเททำให้ผลงานเป็นไปอย่างที่เห็นและตอนนี้ผลผลิตได้กว่า 40 แผ่นต่อวันรวมแปลงยางใหญ่อีก 60แผ่นต่อวันรวมแล้วไม่ต่ำกว่าวันละ 100 แผ่น






บ้านพักในสวนยางมีตังค์ทำได้ไม่น่าเกลียดอีกมุม ภาพสวนยางซึ่งตอนนี้ศาลาพักร้อนเพิ่มขึ้นมา





กำนันอ้าก กล่าวว่า ในบรรดาพืชเศรษฐกิจ ยางพารา มีความมั่นคงที่สุด จากประสบกาณ์ตรงของตัวเอง ยางพาราช่วยเลี้ยงดูคนในครอบครัวกว่า 9 ชีวิตและคนงานพร้อมครอบครัวอีกกว่า 8 ชีวิตรวมเกือบ 20 ชีวิตให้อยู่ได้อย่างสบายๆและอยู่อย่างมีความหวังและมีอนาคตด้วยจากพื้นที่สวนยางที่ให้ผลผลิตแล้วตอนนี้แค่ 50 ไร่เทียบกับอาชีพอื่นแล้วไม่มีทางสู้ยางได้แถมยังเหนื่อยยากลำบากมากกว่ายางพาราหลายเท่าตัวมาก








พาหนะคู่ใจจากน้ำพักน้ำแรง “สวนยาง”


กำนันอ้าก กล่าวต่อว่า ยางพารามีบุญคุณกับครอบครัวผมมากครับนอกจากรายได้จากยางพาราแล้วเกษตรกรหน้าเก่าใหม่ที่หลังไหลเข้ามาในเขตนี้ซึ่งเมื่อก่อนมีไม่กี่เจ้าแต่ตอนนี้ยางพาราเริ่มบูมตอนนี้มีมากกว่าหมื่นไร่ ผู้คนก็เข้ามาหากำนันเนื่องจากมีสวนยางพาราที่ได้รับผลผลิตแล้วนี่เองทำให้เป็นที่ใว้วางใจชาวบ้านมีปัญหาเรื่องยางก็เข้ามา ไม่แน่ใจเรื่องผลผลิตก็เข้ามาดู เป็นแรงจูงใจให้เกษตรชาวสวนยงมือใหม่ได้มากมายที่สำคัญคนต่างถิ่น ครู อาจารย์ เถ้าแก่จากปักต์ใต้ก็ใว้วางใจให้กำนันดูแลปลูกสร้างสวนยางพาราให้ ด้วยเป็นคนที่ไม่คดโกงทำให้มีงานมีรายได้เข้ามาอยู่เสมอไม่เคยขาด ตอนนี้ชีวิตครอบครัวอยู่สุขสบายแล้วรู้สึกว่าตัดสินใจไม่ผิดเลยที่เลือกปลูกยางพารา









ในวันนี้กำนันสุภาษ สิมาชัยได้เป็น กำนันอ้าก ที่ใครๆต่างรู้จักดี



และในวันนี้เมื่อพอมีเวลาจึงหันมาทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมสมัครเป็นกำนันในตำบลซับสีทองโดยได้รับคัดเลือกเมื่อปี 2553 นี้เอง นอกจากนี้ยังได้รับเลือกจากเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดชัยภูมิเป็นประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางระดับศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชัยภูมิและกรรมการเครือข่ายระดับ สกย.จ.นครราชสีมาอีกด้วย









กำนันอ้ากในวันสบายๆ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวให้ฟังกับผู้เขียน

ท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่าการสู้ชีวิตของกำนันนักสู้ผู้นี้จะเป็นแรงใจให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้งมือใหม่และเก่ามีแรงใจต่อสู้อุปสรรคต่างๆและมุ่งทันเพื่อความสำเร็จในอาชีพชาวสวนยางต่อไปครับ


เอกสารอ้างอิง

ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆจาก กำนันสุภาษ สิมาชัย













เรื่อง/ภาพ โดย ทศพล จันทร์ชฎา



























































วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สถานการณ์ภัยแล้งยังวิกฤติ


ชาวสวนยางอีสานสุดเศร้าวิกฤติภัยแล้งและภาวะอากาศร้อนจัดส่งผลต้นยางยืนตายซากเป็นทิวแถว จังหวัดเลย เสียหายแล้วกว่า 60%

นครพนมสวนยางของ "ศุภชัย โพธิ์สุ" รมช.เกษตรตายแล้วนับร้อยต้น กรมวิชาการเกษตรระบุสาเหตุชัดเกิดจากต้นยางขาดน้ำภาวะราคายางที่พุ่งสูงขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ปี 2551 แม้จะลดลงช่วงต้นปี 2552 เล็กน้อยแต่ล่าสุดได้ปรับสูงขึ้นขณะนี้ทะลุกก.ละ 100 บาท เป็นความหวังของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแม้บางรายต้นยางจะยังไม่สามารถกรีดน้ำยางได้เพราะอายุเพิ่ง 4-5 ปี แต่พวกเขาหวังว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะสามารถกรีดยางและขายได้ราคาดี แต่ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นปีนี้ทำให้พวกเขาหมดความหวังเพราะอากาศที่แล้งและร้อนจัดทำให้ต้นยางที่ปลูกภายใต้โครงการยางล้านไร่ยืนตายซากเป็นจำนวนมาก
นายหล้า พรหมมาศ ประธานสหกรณ์สวนยางพาราผาน้อย จำกัด จังหวัดเลย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากภาวะความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนจัด ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในหลายจังหวัด โดยเฉพาะสมาชิกสหกรณ์สวนยางพาราผาน้อย จำกัด ซึ่งมีสมาชิก 500 กว่าราย ส่วนพื้นที่ปลูกยังไม่ได้รวบรวมอย่างเป็นทางการ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นขณะนี้คือต้นยางพารายืนตายซาก เพราะอากาศร้อนจัดและขาดแคลนน้ำ"พื้นที่ปลูกยางของสมาชิกสหกรณ์มีทั้งภายใต้โครงการยางล้านไร่ โครงการส่งเสริมปลูกของจังหวัด รวมถึงพื้นที่ที่สมาชิกปลูกเอง เฉพาะภายใต้โครงการยางล้านไร่มีประมาณ 2,570 ไร่ เวลานี้พื้นที่ปลูกทั้งหมดต้นยางยืนตายซากไปแล้วกว่า 60% ทำให้ชาวสวนยางต้องเดือดร้อนไปตามๆกัน เพราะไม่มีใครป้องกันไว้ล่วงหน้าเนื่องจากไม่คาดคิดว่าจะแห้งแล้งและร้อนจัดขนาดนี้ วันนี้ทุกคนได้แต่นั่งมองตากันปริบๆ จะไปซื้อน้ำมารดคงไม่คุ้มเพราะต้นยางอายุ 4-5 ปียังกรีดน้ำยางไม่ได้ ชาวสวนจึงยังไม่มีรายได้ และความหวังจะขายยางได้ราคาดีอีก 2-3 ปีข้างหน้าคงหมดหวังแล้วเพราะต้นยางตายไปมากแล้ว"นายหล้ากล่าวและว่าปีนี้นับได้ว่าเป็นปีที่แล้งสุดๆ เกษตรกรที่พอจะมีเงินบ้าง จะไปซื้อน้ำมารดสวนยางยังทำได้ลำบากเพราะน้ำในห้วย หนอง คลองบึงแห้งหมด สวนยางของผมประมาณ 300 ไร่ ต้องไปสูบน้ำระยะทาง 4-5 กิโลเมตรมาฉีดรดต้นยาง แต่เวลานี้ไม่มีน้ำให้สูบขึ้นมารดแล้วขณะที่นายชนะวงศ์ สมมุติ ประธานกลุ่มขายยางบ้านโพนงาม จังหวัดเลย กล่าวว่า ปกติแล้วหลังเทศกาลสงกรานต์ชาวสวนยางจะสามารถกรีดน้ำยางได้ แต่เวลานี้ชาวสวนที่มีพื้นที่ปลูกบนที่สูงอากาศร้อนและแล้งกรีดยางไม่ได้เลยเพราะฝนไม่ตก ส่วนสวนยางที่ลุ่มพอกรีดได้บ้างและขายได้ราคาดียางแผ่นดิบกก.ละ 108 บาท ขณะเดียวกันบริเวณบ้านโพนงามมีปัญหาต้นยางยืนตายซากจำนวนมากเหมือนกัน
ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)จังหวัดนครพนม กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จังหวัดนครพนม ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นเดียวกัน โดยมีพื้นที่ปลูกยางต้นยางขาดแคลนน้ำยืนตายซากจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีพื้นที่สวนยางของนายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสบกับต้นยางยืนตายซากเช่นเดียวกัน ซึ่งทางสำนักงานได้ประสานไปยังกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีความรู้ด้านวิชาการมาตรวจสอบสาเหตุต้นยางยืนตายซาก เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุหลักเกิดจากความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนจัด แม้ว่าต้นยางจะเกิดโรคราแป้งแต่ถ้ามีฝนตกลงมาโรคราแป้งจะหายไปได้ แต่เนื่องจากไม่มีฝนตกจึงทำให้ต้นยางตาย
นายวิทย์ ประทักษ์ใจ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบภัยแล้ง โดยอำนาจของสกย.จะให้ความช่วยเหลือสำหรับต้นยางที่กรีดแล้ว 1 ปี จึงจะใช้เงินกองทุนสงเคราะห์สวนยางได้ ส่วนยางที่ยังไม่ได้กรีดนั้นอาจต้องใช้งบภัยธรรมชาติของกระทรวงเข้าไปช่วยเหลือแหล่งข่าวจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552-26 เมษายน 2553 มีพื้นที่ประสบภัยแล้งรวมทั้งสิ้น 60 จังหวัด หากเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2552 พื้นที่ประสบภัยแล้งมากกว่าโดยปี 2552 ประสบภัยแล้ง 53 จังหวัด และหมู่บ้านประสบภัยแล้งมากกว่าถึง 8,018 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 584,366 ไร่ แยกเป็นพืชไร่ 377,264 ไร่ นาข้าว 73,897 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 133,205 ไร่

ขอบที่มา http://tonklagroup.blogspot.com/, และ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,526 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ฝ่าวิกฤติสวนยางพาราในภาคอีสาน ตอนที่2

ทางเลือกทางรอดสำหรับการฝ่าวิกฤติสวนยางพาราในฤดูแล้งอีสานตอนจบ

สวนยางพาราที่ปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่ว "เพอราเรีย"ช่วยคลุมดิน กำจัดวัชพืชในสวนยางพารา คืนธาตุอาหารให้กับดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน

ต้นยางโตไว "สวนยางอายุปีครึ่ง"



สวนยางต.โคกสูง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ(สวนยางพาราของผู้เขียนเอง)

การจัดการวัชพืชในสวนยางพาราไม่ใช่ปัญหายุ่งยากอีกต่อไป ที่สำคัญช่วยให้ดินยังคงความชื้นช่วยให้ยางไม่ขาดน้ำ



รอบๆสวนยางควรมีป่าไม้ที่หลากหลาย ซึ่งปัจจุบันป่าธรรมชาติเดิมๆแทบไม่หลงเหลืออยู่เลย ป่าธรรมชาตินี้จะช่วยเป็นทั้งแนวกันลม แหล่งอาหาร(คน) ความชื้นสัมพัทธ์มากช่วยให้ระบบนิเวศน์รอบๆสวนยางพาราเหมาะสม ช่วยยางพาราในเขตแห้งแล้งได้


สวนยางพาราที่มีระบบน้ำในสวนยาง หน้าแล้งไม่ตาย เขียวสดทั้งปี

สวนยาง ต.บ่านแท่น อ.บ้านแท่น



ระบบมินิสปริงเกอร์ ลงทุนน้อย คุ้มค่ามากครับ ทางเลือกอีกทางที่จะช่วยชาวสวนยางในเขตแห้งแล้งได้ครับ


วางท่อตามแนวต้นยางได้เลยครับต้นทุน 13บาท ต่อต้น

สวนยางที่ต.บ้านแท่น อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ



เลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม ดินหินลูกรัง หน้าดินตื้นจะแสดงอาการมากหาปีที่เจอวิกฤติภัยธรรมชาติหนักๆ

สวนยางที่ตงถ้ำวัวแดง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ




สวนยางยืนต้นตายแล้ง ต.ห้วยยายจิ๋ว อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ




การแก้ไขเบื้องต้นต้องตัดส่วนที่แห้งตายออก ทายาป้องกันเชื้อรา หรือปูนขาว เลี้ยงลำต้นใหม่



ภาพยางยืนต้นตาย ต.ห้วยยายจิ๋ว อ.เทพสถิต

โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเห็นว่า

หากไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายอย่างที่เห็นแบบนี้การเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า1500มม/ปี การจัดการสวนยางตามคำแนะนำการปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่ว จัดการเรื่องระบบน้ำ แหล่งน้ำ สวนป่า พืชแซมในสวนยาง การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี ปัจจัยต่างๆเหล่านี้น่าจะช่วยให้อาชีพสวนยางนี้เป็นอาชีพที่สามารถที่อยู่ได้ในเขตภาคอีสาน ภาคเหนือต่อไปได้ครับ
ขอบคุณข้อมูลดี จากสกย. http://www.rubber.co.th/index_home.php,

สถาบันวิจัยยาง http://www.rubberthai.com/emag/test.php

รูปประกอบจากบล็อกดีๆ http://www.oknation.net/blog/nainoykrab/2009/10/27/entry-1



























วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ฝ่าวิกฤติสวนยางพาราในเขตภาคอีสาน ตอนที่1






































สวัสดีครับ คงไม่เกินเลยไปนะครับสำหรับหัวข้อในวันนี้





















ต่อจากฉบับที่แล้วสัญญาว่าจะนำเสนอรูปสวนยางพาราที่ประสพภัยแล้งในภาคอีสานมาฝาก








ภาพ1,2 สวนยางตายแล้ง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ



ภาพที่3,4สวนยางต.บ้านเพชร อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ล้วนแล้วแต่เป็นยางที่อายุกว่า 4 ปีแล้วขนาดลำต้นกว่า30 เซนติเมตรขึ้นไป เสียหายเยอะจริงๆครับสำหรับ การปลูกยางพารา สวนยางแบบพืชเชิงเดี่ยวแบบในปัจจุบัน


มาวิเคราะห์วิเคราะห์ปัญหากัน
ข้อมูลจาก

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อังคารที่ 8 ธันวาคม 2552 00:00:00 น.
นางนุชนารถ กังพิศดาร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง เปิดเผยว่า ยางพาราที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ลุ่มนาข้าว พื้นที่มีหน้าดินตื้น พื้นที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงหรือระดับน้ำใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดิน พื้นที่มีชั้นดินดาน หรือดินที่มีชั้นกรวดอัดแน่น มีแผ่นหินแข็งระดับลึกจากผิวดินประมาณ 1 เมตร จะเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของต้นยางหลังจากปีที่ 3 ทำให้ชะงักการเติบโต ขอบใบแห้ง ตายจากยอดและยืนต้นตายในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากรากแขนงไม่สามารถชอนไชดูดน้ำในฤดูแล้งได้
ดังนั้น เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงปลูกในพื้นที่เหล่านี้ โดยปลูกพืชล้มลุกหรือพืชที่มีระดับตากตื้นจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากต้นยางเป็นพืชที่ต้องการหน้าดินลึก และระบายน้ำได้ดี ส่วนต้นยางที่ปลูกในพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่นาเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่มีระดับน้ำใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดิน ทำให้รากถูกจำกัดไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่
ในระยะ 1-3 ปีอาจเห็นว่าต้นยางเติบโตดี เนื่องจากระดับใต้ดินอยู่ตื้น ทำให้ต้นยางได้รับความชื้น แต่เมื่อโตขึ้นระบบรากถูกจำกัดและสภาพดินขาดออกซิเจน ทำให้ชะงักการเติบโต เปิดกรีดได้ช้า ต้นยางที่ปลูกในพื้นที่เหล่านี้จำเป็นต้องระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยไถพูนโคนเพื่อทำให้ระหว่างแถวเป็นร่องระบายน้ำได้ดี หรือขุดคูระบายน้ำให้ลึกกว่าระดับน้ำใต้ดิน จึงจะสามารถระบายน้ำได้ แต่ก็เพิ่มต้นทุนในการจัดการ
จากการสำรวจพื้นที่สวนยางเกษตรกร โดยศูนย์วิจัยยางหนองคาย ที่ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ที่ประสบปัญหาต้นยางอายุ 2 ปี ใบเหลือง แคระแกร็น ในช่วงฤดูแล้งดินแห้งแข็ง และออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม โดยดอกมีลักษณะเป็นกระจุกคล้ายช่อดอกสะเดา พบว่าเป็นสวนยางที่ปลูกโดยไม่ยกร่องเพื่อระบายน้ำ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ส่งผลให้ใบเหลืองและแคระแกร็น กรณีการออกดอกในช่วงดังกล่าวถือว่านอกฤดู ที่เป็นกระจุกเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง เมื่อเข้าฤดูฝนได้รับการใส่ปุ๋ยลักษณะดังกล่าวก็จะหายไป
นอกจากนี้ยังพบปัญหาการปลูกยางในพื้นที่นาเดิมที่ จ.พัทลุง ซึ่งไม่เหมาะสมเพราะระดับใต้ดินอยู่ใกล้ผิวดินมาก โดยเฉพาะนาลุ่มที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงกว่า 50 ซม. ส่วนพื้นที่นาดอนระดับน้ำใต้ดินสูงประมาณ 50 ซม. ขณะที่ยางพาราหากให้ระดับน้ำพอเหมาะไม่ควรน้อยกว่า 1 เมตร จึงพบว่ายางที่ปลูกในพื้นที่นาดอนส่วนใหญ่จะยืนต้นตายเมื่ออายุไม่เกิน 7-10 ปี และพื้นที่นาลุ่มเมื่ออายุ 2-5 ปี ขึ้นอยู่กับการระบายน้ำออกจากสวนยาง
นางนุชนารถกล่าวว่า ปัญหาการปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว หากไม่ได้รับการแก้ไขจะสูญเสียทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องจึงควรแนะนำเกษตรกรขุดคูระบายน้ำออกจากแปลงให้ลึกว่าระดับน้ำใต้ดิน และใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับโครงสร้างของดินในร่วนซุย ก็จะช่วยให้ต้นยางรอดตายได้ หากเกษตรกรสนใจในรายละเอียดต่างๆ ขอคำแนะนำได้ที่ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร 0-2579-1576 ต่อ 501, 522, 523 ศูนย์วิจัยยางหนองคาย 0-4242-1396, ฉะเชิงเทรา 0-3813-6225-6 สุราษฎร์ธานี 0-7727-0425-7, สงขลา 0-7421-2401-5.

ต่อตอนที่2ครับง่วงแล้ว มีภาพเด็ดๆที่ทำให้เจ้าสัวทางใต้ที่หันมาปลูกยางในขตแห้งแล้งต้องทบทวนใหม่












วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปีนี้ 2553 นับเป็นปีที่แล้งจัดในรอบหลายปีที่ผ่านมา...อาจเป็นผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อน?
ส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมากครับ...ดังนั้นสำหรับคนที่กำลังคิดจะปลูกยางพารา ในเขตนี้ ทั้งมือเก่าและมือใหม่ครับ หยุดคิดและศึกษาสักนิดเถอะครับ จากรายงานของสถาบันวิจัยยางปี2550 ท่านจะได้ไม่เสี่ยงและมีโอกาสประสพผลสำเร็จได้ครับ
พื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยาง
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการปลูกยาง เฉพาะอย่างยิ่งทางภาคใต้และ
บางจังหวัดของภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางเดิม ต่อมาได้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางไปยังแหล่งปลูกยาง
ใหม่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการปลูกยาง เช่น การ
ขาดความชื้น อุณหภูมิต่ำ ลมแรง ประกอบกับในแหล่งปลูกยางดังกล่าวมีสภาพพื้นที่เป็นที่สูง ลาดชัน ความ
ลึกของดิน โครงสร้างเนื้อดิน การระบายน้ำ และสมบัติทางเคมีของดินต่ำ แต่ยางพารามีคุณสมบัติสามารถ
ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดี จากการทดสอบการปลูกยางเมื่อปี 2521ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนและการกระจายตัวของฝนน้อยกว่าทางภาคใต้ พบว่าต้นยางเจริญเติบโตเป็นที่น่าพอใจ
และจากการทดสอบการปลูกยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเปรียบเทียบกับภาคใต้ พบว่าต้น
ยางในภาคใต้เปิดกรีดได้เร็วกว่าประมาณ 6 เดือน โดยต้นยางที่ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดกรีดได้
เมื่ออายุ 7 ½ ปี ให้ผลผลิตยางเฉลี่ย 221 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตทางภาคเหนือเฉลี่ย 260 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วน
ผลผลิตภาคใต้เฉลี่ย 285 กิโลกรัมต่อไร่ แต่โดยทั่วไปผลผลิตยางในแปลงเกษตรกรเป็นเพียงร้อยละ 67 ของ
ผลผลิตทางวิชาการ ทั้งนี้พบว่าการให้ผลผลิตของต้นยางไม่ว่าผลผลิตน้ำยางและหรือเนื้อไม้ขึ้นอยู่กับปัจจัย
3 ประการ คือ พันธุ์ยาง ความเหมาะสมของพื้นที่ และการจัดการสวนยาง เพราะฉะนั้นในการปลูกสร้างสวน
ยางนอกจากพิจารณาเลือกพันธุ์ยาง และการจัดการสวนยางที่ถูกต้องแล้ว ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมของ
พื้นที่สำหรับปลูกยางด้วย โดยพิจารณาจากปัจจัยทางดินและปัจจัยทางภูมิอากาศ ดังนี้
ปัจจัยทางดิน
1. เป็นพื้นที่ที่ความลาดชันไม่เกิน 35 องศา ถ้าความลาดชันเกินกว่า 15 องศา จำเป็นต้องทำขั้นบันได
2. หน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร มีการระบายน้ำดี ไม่มีชั้นหิน หรือชั้นดินดาน
3. ระดับน้ำใต้ดินต่ำกว่าระดับผิวดินมากกว่า 1 เมตร
4. เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวถึงร่วนทราย ไม่เป็นดินเกลือหรือดินเค็ม
5. ไม่เป็นพื้นที่นาหรือที่ลุ่มน้ำขัง สีของดินควรมีสีสม่ำเสมอตลอดหน้าตัดดิน
6. ดินไม่มีชั้นกรวดอัดแน่นหรือแผ่นหินแข็งในระดับสูงกว่า 1 เมตร เพราะจะทำให้ต้นยางไม่
สามารถใช้น้ำในระดับรากแขนงในฤดูแล้งได้ และหากช่วงแล้งยาวนานจะมีผลทำให้ต้นยาง
ตายจากยอด
Last sa
30 - พื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยาง
7. ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร หากสูงเกินกว่านี้อัตราการเจริญเติบโตของ
ต้นยางจะลดลง
8. ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH)ระหว่าง 4.5-5.5 ไม่เป็นดินด่าง
ปัจจัยทางภูมิอากาศ
1. ปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,250 มิลลิเมตรต่อปี
2. มีจำนวนวันฝนตก 120-150 วันต่อปี
การปลูกยางในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร
ได้พิจารณาปัจจัยด้านภูมิอากาศ โดยเฉพาะด้านอุทกวิทยาเป็นเกณฑ์เบื้องต้น แล้วนำไปประเมินความ
เหมาะสมของพื้นที่ร่วมกับแผนที่ความเหมาะสมของดิน นำมาจัดแบ่งเขตภูมิอากาศสำหรับยางพาราตาม
สภาพภูมิอากาศของประเทศไทย 6 เขต คือ
เขตที่ 1 ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่า 1,000 มิลลิเมตรต่อปี เป็นพื้นที่ที่ไม่แนะนำให้ปลูกยางพารา
เขตที่ 2 ปริมาณน้ำฝนอยู่ระหว่าง 1,000-1,200 มิลลิเมตรต่อปี มีช่วงฤดูแล้งประมาณ 5 เดือน
มีศักยภาพในการปลูกยางพาราต่ำ
เขตที่ 3 ปริมาณน้ำฝนอยู่ระหว่าง 1,200-1,400 มิลลิเมตรต่อปี มีช่วงฤดูแล้งประมาณ 3-4 เดือน
เป็นเขตที่เหมาะสมปานกลางสำหรับยางพารา การกระจายตัวของน้ำฝนเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลผลิตยาง
เขตที่ 4 เป็นเขตที่เหมาะสมมากสำหรับยางพารา มีปริมาณน้ำฝนอยู่ระหว่าง 1,500-2,200
มิลลิเมตรต่อปี มีช่วงฤดูแล้งประมาณ 1-3 เดือน ปัจจัยด้านอุทกวิทยาไม่เป็นขีดจำกัด
เขตที่ 5 เป็นเขตที่มีปริมาณน้ำฝนสูงมาก ปริมาณน้ำฝนอยู่ระหว่าง 2,300-3,000 มิลลิเมตรต่อปี
ปริมาณน้ำฝนเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นขีดจำกัดต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตยาง
เขตที่ 6 เป็นเขตที่มีปริมาณน้ำฝนสูงมากเกินไป จนเป็นขีดจำกัดที่รุนแรงสำหรับยางพาราทั้งใน
ด้านโรคและการเก็บเกี่ยวผลผลิต
จากการขยายพื้นที่ปลูกยางตามโครงการปลูกยางพาราเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่
เกษตรกรในแหล่งปลูกยางใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จำนวน 1 ล้านไร่ แต่ความ
ต้องการของเกษตรกรมีมากและมีความประสงค์ปลูกยางเอง ซึ่งบางพื้นที่อาจเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม
ประกอบกับในช่วงปี 2546-2547 ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การปลูกยาง
ในพื้นที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ทั้งสวนยางก่อนเปิดกรีดและสวนยางที่เปิดกรีดแล้วได้รับผลกระทบ ทำให้
พื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยาง - 31
ต้นยางยืนต้นตาย ซึ่งพบทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ดังนั้นสวนยางที่ปลูกในพื้นที่ไม่
เหมาะสมเหล่านี้จำเป็นต้องมีการจัดการสวนยางอย่างถูกต้องจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
แต่เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอันเป็นการเพิ่มต้นทุน ซึ่งมีหลายวิธีการ ดังนี้
1. ปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อช่วย
ให้โครงสร้างของดินดีขึ้น มีความร่วนซุย สามารถอุ้มน้ำและรักษาความชื้นในดินได้ดี
2. ดูแลรักษาสวนยางก่อนเข้าฤดูแล้ง โดยการใช้วัสดุคลุมดินรอบโคนต้นยางในช่วงอายุ 2 ปีแรก
หลังจากปลูก จะช่วยให้ดินเก็บรักษาความชื้นไว้ได้ในช่วงฤดูแล้ง และทาปูนขาวบริเวณลำต้นเพื่อ
ป้องกันลำต้นไหม้จากแสงแดด
3. ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางด้วยปุ๋ยเคมีร่วมปุ๋ยอินทรีย์ตามคำแนะนำเพื่อให้ต้นยางสมบูรณ์แข็งแรง
4. สวนยางที่เปิดกรีดแล้ว ไม่ควรไถพรวนในระหว่างแถวยาง
5. กรณีที่ปลูกยางในดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี หรือเกิดน้ำท่วมขัง ควรขุดคูระบายน้ำก่อนที่ต้นยาง
จะได้รับความเสียหาย โดยปกติควรขุดคูระบายน้ำให้ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกจากระดับผิวดินมากกว่า 2
เมตร ขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดิน
ต้นยางที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม จะมีผลทำให้เจริญเติบโตช้า ไม่ต้านทานโรคและผลผลิตต่ำ
และยังอาจมีผลกระทบตามมาจากภัยธรรมชาติได้อีกด้วย ดังนั้น ในการตัดสินใจปลูกยางพารา เกษตรกร
ควรพิจารณาหลักเกณฑ์สำหรับการปลูกยางพาราให้เหมาะสม เช่น การเลือกพื้นที่ปลูก พันธุ์ยางที่
เหมาะสมกับพื้นที่ และการจัดการสวนยางที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้ต้นยางสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถทนต่อ
ภาวะที่เกิดขึ้นจากความแห้งแล้งและภัยธรรมชาติอื่นๆได้__

ฉบับหน้าผมมีภาพสวนยางที่ประสพกับวิกฤตภัยแล้งและโลกร้อนมาให้ได้พิจารณากันดูนะครับ
ที่มา http://www.rubberthai.com/