วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

ความหมายของกฎหมาย

กฎหมายคืออะไร? เชื่อได้เลยว่าทุกคนหรือแทบจะทุกคนในสังคมคงจะรู้จักคำๆนี้เป็นอย่างดี แต่หากจะให้อธิบายความหมายของคำนี้ หลายๆคนคงไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ ซึ่งจริงๆแล้วแม้แต่ในทางวิชาการก็มีการให้นิยามความหมายแตกต่างกันออกไปมากมาย เนื่องจากเป็นการยากที่จะนิยามความหมายออกมาให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด แต่พอจะสรุปได้ดังนี้

กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือข้อบังคับที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของสังคม

มนุษย์ถือได้ว่าเป็นสัตว์สังคมจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่เนื่องจากความคิด อุปนิสัย สภาพแวดล้อม เพศ ฯลฯ ที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเพื่อควบคุมให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย กฎหมายบางอย่างก็กำหนดขึ้นเป็นขั้นตอนหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ นอกจากนี้การบัญญัติกฎหมายเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้คนในสังคมปฏิบัติตามในแนวทางเดียวกัน ก็จะสร้างความเป็นระเบียบให้เกิดขึ้นอีกด้วย เหล่านี้ถือเป็นเป้าหมายอันสำคัญของสังคม ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้เมื่อคิดย้อนกลับไปแล้ว ก็จะมาจากคนในสังคมนั่นเอง

ลักษณะของกฎหมาย

เราสามารถแยกลักษณะของกฎหมายออกได้เป็น 5 ประการ คือ

1.กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ ซึ่งจะแตกต่างกับการเชื้อเชิญหรือขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตาม คำสั่งหรือข้อบังคับนั้นมีลักษณะให้เราต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าเป็นการเชื้อเชิญหรือขอความร่วมมือ เราจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ เช่นนี้เราก็จะไม่ถือเป็นกฎหมาย เช่น การรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ หรือช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ

2.กฎหมายต้องมาจากรัฐาธิปัตย์หรือผู้ที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ รัฐาธิปัตย์คือผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ในระบอบเผด็จการหรือระบอบการปกครองที่อำนาจการปกครองประเทศอยู่ในมือของบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มีอำนาจออกกฎหมายได้ เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด พระบรมราชโองการหรือคำสั่งของพระมหากษัตริย์ก็ถือเป็นกฎหมาย ส่วนในระบอบประชาธิปไตยของเรา ถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน กฎหมายจึงต้องออกโดยประชาชน คำถามมีอยู่ว่าประชาชนออกกฎหมายได้อย่างไร ก็ออกโดยที่ประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย ซึ่งก็คือสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)นั่นเอง ดังนั้นการเลือก ส.ส. ในการเลือกทั่วไปนั้นนอกจากจะเป็นการเลือกคนเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ยังเป็นการเลือกตัวแทนของประชาชนเพื่อทำการออกกฎหมายด้วย

นอกจากดังกล่าวมาข้างต้น อาจมีบางกรณีที่กฎหมายให้อำนาจเฉพาะแก่บุคคลในการออกกฎหมายไว้ เช่น พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงที่ออกโดยฝ่ายบริหาร(คณะรัฐมนตรี) ฯลฯ

3.กฎหมายต้องใช้บังคับได้โดยทั่วไป คือเมื่อมีการประกาศใช้แล้ว บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายโดยเสมอภาค จะมีใครอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ หรือทำให้เสียประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้ แต่อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น กรณีของฑูตต่างประเทศซึ่งเข้ามาประจำในประเทศไทยอาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายภาษีอากร หรือหากได้กระทำความผิดอาญา ก็อาจได้รับเอกสิทธิ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่ต้องถูกดำเนินคดีในประเทศไทย โดยต้องให้ประเทศซึ่งส่งฑูตนั้นมาประจำการดำเนินคดีแทน ฯลฯ

4.กฎหมายต้องใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการประกาศใช้แล้วแม้กฎหมายนั้นจะไม่ได้ใช้มานาน ก็ถือว่ากฎหมายนั้นยังมีผลใช้บังคับได้อยู่ตลอด กฎหมายจะสิ้นผลก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกกฎหมายนั้นหรือมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเท่านั้น

5.กฎหมายจะต้องมีสภาพบังคับ ถามว่าอะไรคือสภาพบังคับ นั่นก็คือการดำเนินการลงโทษหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบหรือหลาบจำ ไม่กล้ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอีก และรวมไปถึงการเยียวยาต่อความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายนั้นด้วย

ตามกฎหมายอาญา สภาพบังคับก็คือการลงโทษตามกฎหมาย เช่น การจำคุกหรือการประหารชีวิต ซึ่งมุ่งหมายเพื่อจะลงโทษผู้กระทำความผิดให้เข็ดหลาบ แต่ตามกฎหมายแพ่งฯนั้น สภาพบังคับจะมุ่งหมายไปที่การเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือการบังคับให้กระทำการตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ฯลฯ ซึ่งบางกรณีผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายก็อาจต้องต้องถูกบังคับทั้งทางอาญาและทางแพ่งฯในคราวเดียวกันก็ได้

แต่กฎหมายบางอย่างก็อาจไม่มีสภาพบังคับก็ได้ เนื่องจากไม่ได้มุ่งหมายให้ผู้คนต้องปฏิบัติตาม แต่อาจบัญญัติขึ้นเพื่อรับรองสิทธิให้แก่บุคคล หรือทำให้เสียสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วสามารถทำนิติกรรมได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม หรือบุคคลที่มีอายุ 15 ปีแล้วสามารถทำพินัยกรรมได้ ฯลฯ หรือออกมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ซึ่งกฎหมายประเภทนี้จะไม่มีโทษทางอาญาหรือทางแพ่งแต่อย่างใด

ที่มาของกฎหมาย

1.ศีลธรรม คือกฎเกณฑ์ของความประพฤติ คำๆนี้ฟังเข้าใจง่ายแต่อธิบายออกมาได้ยากมาก เพราะเป็นสิ่งที่แต่ละคนเข้าใจได้ในตัวเองและมีความหมายที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สภาพแวดล้อม ฯลฯ แต่อย่างไรก็ความหมายของศีลธรรมของแต่ละคนก็จะมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน แม้อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่โดยหลักแล้วก็จะหมายถึง ความรู้สึกผิดชอบหรือความดีงามต่างๆที่ทำให้คนเราสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยสงบสุข ดังนั้นการบัญญัติกฎหมายจึงต้องใช้ศีลธรรมเป็นรากฐาน เพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่สังคมให้มากที่สุดนั่นเอง

2.จารีตประเพณี คือแบบแผนที่คนในสังคมยอมรับและถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน แต่ละสังคมก็มีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่สภาพแวดล้อม ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ เช่นเดียวกับศีลธรรม การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อจารีตประเพณี คนในสังคมนั้นๆก็จะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่สมควรกระทำ จึงนำมาใช้เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่คนในสังคมนั้นๆยอมรับ ตัวอย่างที่สำคัญก็คือกฎหมายในประเทศอังกฤษนั้น ผู้พิพากษาจะใช้จารีตประเพณีมาพิจารณาพิพากษา ซึ่งคำพิพากษานั้นถือเป็นกฎหมาย ส่วนประเทศอื่นๆก็มีการนำจารีตประเพณีมาใช้เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมายเช่นกัน เช่นกฎหมายของประเทศไทยในเรื่องของการหมั้น การแบ่งมรดก ฯลฯ

3.ศาสนา คือหลักการดำเนินชีวิตหรือข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนาบัญญัติขึ้นเพื่อสอนให้คนทุกคนเป็นคนดี เมื่อพูดถึงศาสนาเราก็อาจนึกไปถึงศีลธรรม เพราะสองคำนี้มักจะมาคู่กัน แต่คำว่าศีลธรรมจะมีความหมายกว้างกว่าคำว่าศาสนา เพราะศีลธรรมอาจหมายความรวมเอาหลักคำสอนของทุกศาสนามารวมไว้และความดีงามต่างๆไว้ในคำๆเดียวกัน เมื่อเรากล่าวถึงคำสอนของศาสนาอิสลาม นั่นหมายถึงศีลธรรม เมื่อเรากล่าวถึงคำสอนของศาสนาพุทธ นั่นหมายถึงเรากล่าวถึงศีลธรรมเช่นกัน กฎหมายของแต่ละประเทศก็จะบัญญัติขึ้นโดยอาศัยศาสนาเป็นรากฐานด้วย เช่นในประเทศไทยเราในทางอาญาก็จะนำศีล 5 มาใช้ในการบัญญัติกฎหมาย เช่นห้ามฆ่าผู้อื่น ห้ามลักทรัพย์ ห้ามประพฤติผิดในกาม ฯลฯ

4.คำพิพากษาของศาล มีเฉพาะบางประเทศเท่านั้นที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลมาจัดทำเป็นกฎหมาย เช่น ประเทศอังกฤษ คือใช้จารีตประเพณีมาพิจารณาพิพากษาคดีและเพื่อไม่ให้มีกรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกก็จะนำคำพิพากษานั้นมาจัดทำเป็นกฎหมายเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม หากมีคดีที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกันเกิดขึ้นอีก ศาลก็จะตัดสินเหมือนกับคดีก่อนๆ แต่ในหลายๆประเทศคำพิพากษาเป็นเพียงแนวทางในการพิจารณาพิพากษาของศาลเท่านั้น ศาลอาจใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาต่างจากคดีก่อนๆได้ จึงไม่ถือคำพิพากษาของศาลเป็นกฎหมาย เช่น ประเทศไทยเราเป็นต้น

5.หลักความยุติธรรม(Equity) หลักความยุติธรรมนี้จะต้องมาควบคู่กับกฎหมายเสมอ เพียงแต่ความยุติธรรมของแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากัน แต่อย่างไรก็ดีผู้บัญญัติและผู้ใช้กฎหมายก็จะต้องคำนึงถึงหลักความยุติธรรมด้วยและความยุติธรรมนี้ควรจะอยู่ในระดับที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยอมรับ เพราะถ้าเป็นความยุติธรรมโดยคำนึงถึงคนส่วนน้อยมากกว่า ก็จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ทำให้ไม่เกิดความยุติธรรมแก่สังคมโดยแท้จริง ตัวอย่างที่สำคัญคือ ในอังกฤษนั้นแต่ก่อนการฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้นจะฟ้องเรียกได้เฉพาะจำนวนเงินเท่านั้น จะฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไม่ได้ จึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย เนื่องจากในบางรายผู้เสียไม่ได้ต้องการเงินค่าเสียหาย แต่ต้องการให้คู่สัญญาปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำต่อกัน ดังนั้นจึงได้มีการนำเอาหลักความยุติธรรมาใช้โดยอนุญาตให้มีการชำระหนี้โดยการปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ตามความมุ่งหมายของผู้ที่เสียหายได้ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดียิ่งขึ้น

6.ความคิดเห็นของนักปราชญ์ ก็คือผู้ทรงความรู้ในทางกฎหมายนั่นเอง อาจจะเป็นนักวิชาการ หรืออาจารย์สอนกฎหมายก็ตาม เนื่องจากนักปราชญ์เหล่านี้จะเป็นผู้ค้นคว้าหลักการและทฤษฎีต่างๆเพื่อสนับสนุนหรือโต้แย้งกฎหมายหรือคำพิพากษาของศาลอยู่เสมอ ทำให้เกิดหลักการหรือทฤษฎีใหม่ๆที่เป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมายได้ เช่น แนวความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ ในประเทศรัสเซีย ฯลฯ

ระบบกฎหมาย

ระบบกฎหมายหลักๆในโลกนี้มีอยู่ 4 ระบบใหญ่ๆด้วยกัน คือ

1.ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์(Civil Law) หรือก็คือระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร จุดกำเนิดอยู่ที่อาณาจักรโรมัน ระบบกฎหมายนี้จะมีลักษณะเป็นการรวมรวมเอาจารีตประเภณีหรือกฎหมายต่างๆหรือบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ โดยบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและจัดไว้เป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเรียกว่าประมวลกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ชนชั้นที่ถูกปกครองในโรมันจึงมีการเรียกร้องให้ชนชั้นสูงทำการเขียนกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ชนชั้นที่ถูกปกครองได้รู้กฎหมายด้วย ซึ่งระบบกฎหมายนี้ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยก็ใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ ตัวอย่างก็เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ฯลฯ

2.ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์(Common Law) หรือก็คือระบบกฎหมายจารีตประเพณี จุดกำเนิดอยู่ที่อังกฤษ เนื่องจากแต่เดิมนั้นประเทศอังกฤษมีชนเผ่าอยู่มากมายหลายชนเผ่าด้วยกัน ต่อมาได้มีการจัดตั้งศาลหลวงหรือศาลพระมหากษัตริย์ขึ้น โดยคัดเลือกผู้พิพากษาที่มีความรู้จากส่วนกลางไปพิจารณาคดีในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแต่ละชนเผ่าก็มีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาคดีมากมาย แต่ในภายหลังปัญหาก็ค่อยๆหมดไปเพราะเริ่มมีจารีตประเพณีที่มีลักษณะเป็นสามัญขึ้นโดยศาลหลวงได้ใช้จารีตประเพณีเหล่านี้ในการพิจารณาคดี ในระบบคอมมอน ลอว์แต่เดิมจะไม่มีการบัญญัติกฎหมายไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อศาลใช้จารีตประเพณีในการพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ก็จะมีการบันทึกคำพิพากษานั้นเอาไว้ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่อๆไป หาข้อเท็จจริงในคดีต่อๆมาเหมือนกับคดีก่อน ศาลก็จะพิพากษาไปตามที่ได้มีการบันทึกไว้แล้ว ถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลก็คือกฎหมายนั่นเอง แต่ปัจจุบันนี้ในประเทศอังกฤษก็ใช้ทั้งระบบกฎหมายแบบซีวิล ลอว์และคอมมอน ลอว์ ควบคู่กันไป

3.ระบบกฎหมายสังคมนิยม(Socialist Law) จุดกำเนิดของระบบกฎหมายน้อยู่ที่รัสเซีย แต่เดิมรัสเซียใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ แต่ในภายหลังเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ ก็ได้มีการนำหลักการและแนวความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ และ เลนิน มาใช้โดยเชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือในการขัดระเบียบและกลไกในสังคม เพื่อให้คนในสังคมมีความเท่าเทียมกัน ปราศจากการกดขี่ข่มเหง ปราศจากชนชั้นวรรณะ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดร่วมกัน กฎหมายมีอยู่เพื่อความเท่าเทียม เมื่อใดที่สังคมเกิดความเท่าเทียมกันแล้วกฎหมายก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ส่วนลักษณะของกฎหมายสังคมนิยมนั้นจะมีการผสมผสานระหว่างกฎหมายลายลักษณ์อักษรกับจารีตประเพณีเข้าด้วยกัน โดยมีการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนจารีตประเพณีนั้นเป็นตัวช่วยในการตีความและอุดช่องว่างของกฎหมายเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และที่สำคัญก็คือกฎหมายในระบบสังคมนิยมนั้นต้องแฝงหลักการหรือแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ และ เลนิน ด้วยเสมอ

4.ระบบกฎหมายศาสนาและประเภณีนิยม ลักษณะของกฎหมายในระบบนี้ โดยเนื้อหาของกฎหมายแล้วก็จะอาศัยศาสนาหรือประเภณีนิยมเป็นฐานในการบัญญัติกฎหมายขึ้นมา เช่น กฎหมายศาสนาอิสลามกำหนดหน้าที่ของชาวมุสลิมที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ในปัจจุบันประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม กฎหมายอิสลามมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก แต่ส่วนกฎหมายในเรื่องอื่นๆก็จะใช้แนวทางของกฎหมายของทางโลกตะวันตก หรือใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่จังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในเรื่องครอบครัวและมรดกก็จะต้องนำกฎหมายศาสนาอิสลามมาใช้บังคับ ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นเฉพาะ 4 จังหวัดดังกล่าวเท่านั้น ส่วนในเรื่องอื่นๆทุกจังหวัดก็จะใช้กฎหมายฉบับเดียวกันรวมไปถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น

ส่วนประเภณีนิยมนั้น คือ สิ่งที่คนในสังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่นในประเทศจีนก็มีการนำประเภณีนิยมของนักปราชญ์อย่าง ขงจื้อ มาเป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมาย หรือประเภณีโบราณของลัทธิชินโตก็ใช้เป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมายในประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ฯลฯ

วิวัฒนาการกฎหมายในประเทศไทย

เดิมกฎหมายของประเทศไทยนั้นมีที่มาจากจารีตประเภณี ศาสนา รวมไปถึงพระราชโองการของพระมหากษัตริย์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชศาสตร์” ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยหลักใน “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” จนกระทั่งการเสียเมืองครั้งที่ 2 ให้แก่ประเทศพม่า เอกสารสำคัญทางกฎหมายได้มีการถูกทำลายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาในสมัยของรัชการที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แม้จะมีการรวบรวมกฎหมายขึ้นใหม่แต่ก็เหลือเพียงหนึ่งในสิบของกฎหมายที่มีอยู่เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถตัดสินคดีได้อย่างยุติธรรม รัชกาลที่ 1 จึงทรงชำระสะสางกฎหมายเสียใหม่กลายเป็น “กฎหมายตราสามดวง” ถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญของไทยเรา นักวิชาการทั้งหลายถือว่าแม้จริงแล้วกฎหมายตราสามดวงนี้ก็คือกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

คดีสำคัญที่ก่อให้เกิดกฎหมายตราสามดวงก็คือ “คดีอำแดงป้อม” (อำแดง เป็นคำนำหน้าชื่อของผู้หญิงในสมัยก่อน) คดีนี้มีข้อเท็จจริงคือ นายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษพระเกษมและนายราชาอรรถ เนื่องจาก อำแดงป้อม ภรรยาของนายบุญศรีเป็นชู้กับ นายราชาอรรถ แต่อำแดงป้อมกลับมาฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่พระเกษมกลับพิจารณาเข้าข้างอำแดงป้อมแล้วคัดข้อความส่งให้ลูกขุน ณ ศาลหลวง มีคำตัดสินให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีขาดจากการเป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย เมื่อรัชการที่ 1 ทรงทราบเรื่องจึงตรัสว่า หญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษากันแแล้วให้หย่าตามคำฟ้องนั้นไม่เป็นการยุติธรรม จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เจ้าพระยาคลังตรวจสอบกฎหมายดังกล่าว ปรากฎได้ความว่า ชายไม่ผิด หญิงมาขอหย่า ก็สามารถหย่าได้(ตามที่บันทึกใช้คำว่า ชายหาผิดมิได้หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชายหย่าได้) จึงทรงเห็นว่าแม้แต่พระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไป ก็ยังอาราธนาพระราชาคณะทั้งปวงให้ทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกให้ถูกต้องได้ ดังนั้นเมื่อกฎหมายผิดเพี้ยนไปก็ควรต้องชำระสะสางให้ถูกต้อง พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรกกระหม่อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ประกอบด้วยอาลักษณ์ 4 ลูกขุน 3 ราชบัณฑิต 4 จัดการชำระบทกฎหมายให้ถูกต้อง โดยอาศัย “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์”(เชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ หรือผู้มีอำนาจเหนือคนธรรมดาแต่งขึ้น เดิมนั้นเป็นของชาวฮินดู เป็นหนังสือในศาสนาพราห์ม) เป็นหลักในการบัญญัติกฎหมาย เช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยา เกิดเป็นกฎหมายตราสามดวงขึ้น

ในเวลาต่อมาเกิดการล่าอาณานิคมจากประเทศซีกโลกตะวันตก เช่น ประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นก็คือการเสียเอกราชทางศาล เนื่องจากต่างประเทศเห็นว่าประเทศไทยเรากฎหมายป่าเถื่อน ไม่เป็นธรรม เมื่อมีปัญหาหรือคดีเกิดขึ้นก็จะไม่ยอมขึ้นศาลไทย และบีบบังคับให้รัฐบาลของไทยทำสนธิสัญญาซึ่งเรียกว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ได้มีการจัดตั้งศาลกงศุล และศาลต่างประเทศขึ้นเพื่อใช้ในการพิจารณาคดีสำหรับคนชาตินั้นๆโดยเฉพาะ ไม่ใช้กฎหมายของไทยและไม่ขึ้นศาลไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะนำเอาเอกราชทางศาลกลับคืนมา โดยการแก้ไขกฎหมายให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ จึงได้มีส่งข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ไปศึกษากฎหมายที่ต่างประเทศเพื่อนำความรู้มาพัฒนากฎหมาย รวมถึงจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการตรวจแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายขึ้นใหม่ โดยตั้งตณะกรรมการซึ่งมีพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์(พระบิดาแห่งกฎหมายไทย) เป็นประธาน โดยร่างประมวลกฎหมายอาญาเสร็จก่อน(ในสมัยนั้นคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127) อีกทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นร่างกฎหมายอื่นๆด้วย ต่อมาในสมัยรัชการที่ 6 ก็ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และปรกาศใช้ในปี พ.ศ.2468 แรกเริ่มเดิมทีมีเพียง 2 บรรพ คือบรรพ 1 ว่าด้วยบทเบ็ดเสร็จทั่วไป และบรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ หลังจากนั้นก็มีการร่างบรรพอื่นๆขึ้นจนครบ 6 บรรพในภายหลัง

ในการปฏิรูประบบกฎหมายจากระบบเดิมที่ล้าสมัยมาเป็นระบบใหม่นั้น ไทยได้รับเอาระบบซีวิล ลอว์มาใช้ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ฝรั่งเศสและเยอรมันใช้กัน โดยระบบนี้มีต้นกำเนิดมาจากอาณาจักรโรมัน เริ่มแรกเดิมทีนั้นคณะกรรมการร่างกฎหมายประสงค์ที่จะนำเอาระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์มาใช้บังคับ แต่เนื่องจากระบบกฎหมายนี้เป็นระบบกฎหมายที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เพราะระบบกฎหมายนี้เป็นระบบกฎหมายที่พัฒนามาเป็นเวลาช้านานจากจารีตประเพณีและระบบสังคมโดยเฉพาะ ตัวบทกฎหมายก็ไม่มีการรวบรวมเอาไว้เป็นหมวดหมู่ทำให้ยากแก่การศึกษา ซึ่งแตกต่างกับระบบซีวิล ลอว์ ที่มีการรวบรวมกฎหมายไว้เป็นหมวดหมู่อย่างมีระเบียบ ทำให้ง่ายแก่การศึกษาและนำมาใช้เป็นแบบอย่าง อีกทั้งประเทศส่วนใหญ่นอกจากฝรั่งเศสและเยอรมันแล้ว ต่างก็ใช้ระบบกฎหมายนี้ทั้งสิ้ง การที่ประเทศไทยใช้ระบบเดียวกับนานาประเทศก็จะทำให้กฎหมายของไทยมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งก็จะมีผลทำให้ไทยอาจได้รับเอกราชทางศาลคืนได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นประเทศไทยจึงนำเอาระบบซิวิล ลอว์มาใช้ โดยนำกฎหมายของประเทศอื่นๆมาผสานเข้ากันกับกฎหมายไทยดั้งเดิม และมีการปรับปรุงให้ทันสมัยเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ จนในที่สุดก็ได้รับเอกราชทางศาลคืนมา และกฎหมายไทยก็ยังมีการพัฒนาขึ้นมาอีกเรื่อยๆเพื่อสามารถใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้ จนถึงปัจจุบัน

ลำดับชั้นของกฎหมายในประเทศไทย(ศักดิ์กฎหมาย)

ลำดับชั้นของกฎหมายมีไว้เพื่อบ่งบอกถึงระดับสูงต่ำและความสำคัญของกฎหมายแต่ละประเภทรวมไปถึงภาพรวมของกฎหมายที่ใช้กัน กฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่าจะมีผลยกเลิกหรือขัดต่อกฎหมายที่มีลำดับชั้นสูงกว่าไม่ได้ ซึ่งเราจัดลำดับได้ดังนี้

1.กฎหมายแม่บทที่มีศักดิ์สูงที่สุด ได้แก่ รัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ เป็นกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์การปกครองและกำหนดโครงสร้างในการจัดตั้งองค์กรบริหารของรัฐ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชนรวมไปถึงให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายอื่นๆที่ออกมาจะต้องออกให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญจะก็จะไม่มีผลใช้บังคับได้ เราอาจเปรียบเทียบอย่างง่ายๆโดยนึกไปถึงผู้ว่าจ้างคนหนึ่ง จ้างผู้รับจ้างให้ก่อสร้างบ้าน โดยให้หัวข้อมาว่าต้องการบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรงมั่นคง รูปแบบบ้านเป็นทรงไทย ผู้รับจ้างก็ต้องทำการออกแบบและก่อสร้างให้โครงสร้างบ้านแข็งแรงและออกเป็นแบบทรงไทย ถ้าบ้านออกมาไม่ตรงตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ ก็อาจถือได้ว่าผู้รับจ้างผิดสัญญาได้ หัวข้อที่ผู้ว่าจ้างให้มาอาจเปรียบได้กับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเพียงแต่กำหนดกฎเกณฑ์หรือรูปแบบเอาไว้เป็นแนวทางหรือเป้าหมาย ส่วนการออกแบบและการก่อสร้างอาจเปรียบได้กับกฎหมายอื่นๆที่ต้องออกมาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ถ้าออกแบบมาหรือสร้างไม่ตรงกับความต้องการก็เปรียบเทียบได้กับการออกกฎหมายอื่นๆมาโดยไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ก็จะมีผลเป็นการผิดสัญญาหรืออาจเปรียบเทียบในทางกฎหมายได้ว่ากฎหมายนั้นๆใช้ไม่ได้


2.กฎหมายที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารเป็นผู้ออก ได้แก่ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด กฎหมายเหล่านี้ถือว่ามีศักดิ์เป็นลำดับที่สองรองจากรัฐธรรมนูญ

-ประมวลกฎหมาย คือเป็นการรวมรวบเอาหลักกฎหมายในเรื่องใหญ่ๆซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปมาจัดเป็นหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและเพาณิชย์ ฯลฯ ประมวลกฎหมายต่างๆ ถือเป็นกฎหมายที่เป็นหลักทั่วๆไป ที่กล่าวถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคลแต่ละคน บุคคลในสังคมต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรและห้ามประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง และรวมไปถึงการให้ความคุ้มครองต่อสิทธิต่างๆของบุคคลแต่ละคนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆที่รัฐธรรมนูญวางไว้

-พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คือเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น พระราชบัญญัติล้มละลาย ก็จะเป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือพระราชบัญญัติสัญชาติ ก็จะเกี่ยวข้องเฉพาะกับเรื่องสัญชาติของบุคคล ฯลฯ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารหรือก็คือรัฐบาลค่อนข้างมาก เพราะฝ่ายบริหารจะเป็นผู้กำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ และเสนอกฎหมายเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้นๆให้สภานิติบัญญัติทำการออกนั่นเองและกฎหมายที่ออกมานั้นแม้จะมีการเปลี่ยนฝ่ายบริหารหรือฝ่ายรัฐบาลแล้ว ก็จะมีผลใช้บังคับอยู่ จนกว่ากฎหมายนั้นจะถูกยกเลิกหรือมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

-พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารหรือก็คือรัฐบาล เป็นกฎหมายที่ออกใช้ไปพลางก่อนในกรณีที่มีจำเป็นเร่งด่วน หลังจากมีการใช้ไปพลางก่อนแล้ว ในภายหลังพระราชกำหนดนั้นก็อาจกลายเป็นพระราชบัญญัติซึ่งจะมีผลบังคับเป็นการถาวรได้ ถ้าสภานิติบัญญัติให้การอนุมัติ แต่ถ้าสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นก็ตกไป แต่จะไม่ทระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้กระทำไปในระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น ซึ่งพระราชกำหนดจะออกได้เฉพาะกรณีต่อไปนี้เท่านั้น คือ กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือเพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือเพื่อจะป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ หรือมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา

3.กฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ออก ได้แก่ พะราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง

(ก).พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งจะออกได้เฉพาะในกรณีต่อไปนี้คือ
-รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาในกิจการอันสำคัญที่เกี่ยวกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ
-โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บทซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติ หรือ พระราชกำหนด คือจะต้องมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดให้อำนาจในการออกไว้ เช่น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากร พ.ศ. 2528 กำหนดว่าหากจะเปิดศาลภาษีอากรจังหวัดเมื่อใด ต้องประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา ฯลฯ ด้วยการที่พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติและพระราชกำหนด ดังนั้นจะออกมาขัดกับพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทนั้นไม่ได้
-กรณีที่จำเป็นอื่นๆในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย

(ข).กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเป็นผู้ออก โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บทซึ่งก็คือพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดฉบับใดฉบับหนึ่ง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นๆ พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดจะกำหนดกฎเกณฑ์กว้างๆเอาไว้ ส่วนกฎกระทรวงก็จะมากำหนดรายละเอียดอีกชั้นหนึ่ง เช่น ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้กำหนดว่า ในกรณีที่ใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลใดเพื่อขายทอดตลาด ผู้ที่มีอำนาจสั่งให้ยึด อายัดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เราก็ต้องไปศึกษาในกฎกระทรวงอีกชั้นหนึ่งว่าผู้ที่มีอำนาจสั่งนั้นคือใครบ้าง ฯลฯ

4.กฎหมายที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออก ได้แก่ เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบังคับสุขาภิบาล ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติเมืองพัทยา

เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับโดยเฉพาะในแต่ละองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือในกรณีที่กฎหมายให้อำนาจไว้ก็ทำการออกได้เช่นกัน เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นกฎหมายที่กรุงเทพมหานครตราขึ้นเพื่อใช้บังคับในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น หรือเทศบัญญัติ ก็เป็นกฎหมายที่เทศบาลบัญญัติขึ้นใช้บังคับเฉพาะในเขตเทศบาลของตน

ประเภทของกฎหมาย

การแบ่งแยกประเภทกฎหมายที่นิยมใช้กันมีอยู่ 2 ประเภท คือ

1.การแบ่งแยกประเภทของกฎหมายตามลักษณะแห่งการใช้ เป็นการแบ่งแยกโดยพิจารณาถึงลักษณะการใช้กฎหมายเป็นหลัก ได้แก่

-กฎหมายสารบัญญัติ คือกฎหมายที่บัญญัติถึงเนื้อหาหรือเรื่องทั่วๆไป เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมความประพฤติรวมไปถึงกำหนดสิทธิและหน้าที่ต่างๆของพลเมืองไว้ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา
-กฎหมายวิธีสบัญญัติ คือกฎหมายที่บัญญัติถึงกระบวนการหรือวิธีการที่จะบังคับหรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายสารบัญญัตินั่นเอง ได้แก่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฯลฯ ตัวอย่างเช่นในประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าผู้ใดฆ่าผู้อื่นผู้นั้นมีความผิด แต่ไม่ได้กำหนดว่ามีจะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างไร ไม่มีขั้นตอนการดำเนินการกำหนดไว้ เราก็ต้องอาศัยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในการจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เราอาจเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างง่ายๆได้ว่า หากเราเปรียบเทียบว่ากฎหมายสารบัญญัติเปรียบได้กับเครื่องกรองน้ำที่ใช้ในการกรองน้ำให้สะอาด กฎหมายวิธีสบัญญัติก็จะหมายถึงวิธีการใช้เครื่องกรองน้ำนั้นหรือกระบวนการการทำงานของเครื่องกรองน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของน้ำสะอาดให้เราใช้ดื่มกินนั่นเอง ถ้าเราไม่รู้วิธีใช้หรือไม่มีกระบวนการการกรองน้ำติดตั้งอยู่ในเครื่อง เราก็จะทำการกรองน้ำให้สะอาดไม่ได้ เช่นเดียวกันนี้ถ้าไม่มีกฎหมายวิธีสบัญญัติ การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายสารบัญญัติก็จะทำได้ยาก เพราะไม่มีแบบแผนและวิธีการแน่นอน ขาดความเป็นระเบียบและไร้ประสิทธิภาพ

2.แบ่งแยกประเภทของกฎหมายตามลักษณะของความสัมพันธ์ของคู่กรณี ได้แก่

-กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเอง ซึ่งกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของแต่ละเอกชน รวมไปถึงสิทธิและหน้าที่ของเอกชนที่มีต่อเอกชนด้วยกันด้วย กฎหมายเอกชนก็ได้แก่กฎหมายแพ่ง และกฎหมายพาณิชย์ กฎหมายแพ่งจะกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่รวมไปถึงความสัมพันธ์ของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย ส่วนกฎหมายพาณิชย์ก็จะกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างบุคคลที่เข้ามามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อกัน เช่น กำหนดถึงสิทธิแบะหน้าที่ระหว่างคู่สัญญาซื้อขาย คู่สัญญากู้ยืมเงิน ฯลฯ

-กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน หรือความสัมพันธ์ระหว่างรํฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าที่ของรัฐกับประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

-กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศต่างๆในโลกต้องมีการติดต่อมีความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ทั้งในการค้า เศรษฐกิจ และการประสานงานช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอาจมาในรูปของสนธิสัญญา จารีตประเพณีหรือความตกลงกันระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศอาจไม่มีสภาพบังคับที่ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐ เช่นกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ฯลฯ

ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับกฎหมาย

กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเพื่อทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบและสงบสุข ซึ่งด้วยข้อจำกัดหลายๆประการทำให้กฎหมายไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ในทุกๆเรื่อง เป็นผลทำให้เราคิดว่ากฎหมายไม่ดีบ้าง กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง ไม่มีใครเกรงกลัวกฎหมายบ้าง และมีการแก้ไขกันอยู่เรื่อยไป

แต่เรากำลังมองข้ามจุดสำคัญไปอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายก็เป็นเพียงข้อความหรือตัวหนังสือธรรมดาๆถ้าไม่มีผู้นำกฎหมายนั้นมาใช้ กฎหมายอาจกลายเป็นอาวุธป้องกันตัวที่ดีเยี่ยมถ้าเราใช้มันโดยถูกต้อง แต่กฎหมายก็อาจเป็นอาวุธทำร้ายผู้อื่นได้เช่นกันถ้าใช้มันผิดวิธี ดังนั้นจุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ากฎหมายดีหรือไม่ดีเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ใช้กฎหมายก็ต้องใช้กฎหมายในทางที่ถูกต้องเหมาะสมด้วย จะขาดปัจจัยอย่างหนึ่งอย่างใดไปไม่ได้ จริงๆแล้วกฎหมายนั้นไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ถ้าคนในสังคมอยู่กันอย่างเป็นระเบียบและสงบสุข แต่สังคมแบบนั้นเป็นเพียงสังคมที่อยู่ในอุดมคติเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามกันอย่างมาก ดังนั้นกฎหมายจึงยังมีความจำเป็นตราบเท่าที่ยังมีสังคมอยู่

สิ่งที่สังคมเราต้องช่วยกันดำเนินการในตอนนี้เป็นอันดับแรก ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง เพราะปัญหาจะเกิดขึ้นมาใหม่เรื่อยๆตามสภาพสังคมและกาลเวลา แต่เราต้องพัฒนาตัวบุคคลในสังคม พัฒนาตัวผู้ใช้กฎหมาย ให้มีความรู้และมีศีลธรรมควบคู่กันไป กฎหมายนั้นออกโดยคนในสังคมและผู้ใช้ก็คือคนในสังคม ดังนั้นถ้าคนในสังคมมีคุณภาพแล้ว กฎหมายและการใช้บังคับก็จะดีตามไปด้วยนั่นเอง และนี่คือการแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นที่ต้นเหตุโดยแท้จริง

ความรู้เพิ่มเติมที่น่าสนใจ

1.กฎหมายจะใช้บังคับได้ ต่อเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งเมื่อมีการประกาศแล้วจะถือว่าประชาชนทุกคนทราบแล้วว่ากฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เนื่องจากราชกิจจานุเบกษาเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ทุกสัปดาห์เพื่อประกาศกฎหมาย คำสั่ง ระเบียบข้อบังคับ และข้อเท็จจริงที่สำคัญให้แก่ประชาชนได้รับทราบ ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้

2.การตีความกฎหมาย คือการค้นหาความหมายของถ้อยคำในกฎหมายที่ไม่ชัดเจนหรือกำกวม โดยอาจวิเคราะห์ตามตัวอักษรอาศัยพจนานุกรมในการค้นหาความหมาย วิเคราะห์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ฯลฯ ในกรณีที่เป็นการตีความกฎหมายที่เป็นโทษ เช่น กฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัดตามตัวอักษร คือกฎหมายบัญญัติไว้ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น จะไปตีความเป็นอย่างอื่นเพื่อเอาผิดแก่บุคคลใดๆไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเป็นกฎหมายให้สิทธิ ก็ควรที่จะตีความในทางที่เป็นประโยชน์หรือเป็นคุณให้มากที่สุด เช่น มาตรา 1627 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วให้ถือเป็นผู้สืบสันดาน มีสิทธิรับมรดกได้ การรับรองบุตรนั้นโดยทั่วไปจะหมายถึงการจดทะเบียนรับรองบุตรให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา ซึ่งถือเป็นการรับรองโดยนิตินัย แต่มาตรานี้มีลักษณะเป็นกฎหมายให้สิทธิแก่บุตรนอกกฎหมาย จึงต้องตีความให้เป็นคุณ ดังนั้นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบิดายอมรับว่าเป็นบุตร แม้จะไม่ได้มีการจดทะเบียนรับรองบุตรก็ตาม(ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา) ก็ถือว่ามีสิทธิรับมรดกของบิดาได้เช่นกัน เป็นต้น

3.สภานิติบัญญัติหลายๆคนอาจจะไม่คุ้นหูกันเท่าใดนัก แต่ถ้าเรียกว่ารัฐสภาคงจะเป็นที่รู้จักดีกว่า ซึ่งสภานิติบัญญัติประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา หน้าที่หลักๆก็คือทำการออกกฎหมายอีกทั้งยังมีหน้าที่อื่นๆที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอีกด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มีวาระ 4 ปี ส่วนสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) มีวาระ 6 ปีและจะเป็นติดต่อกันสองสมัยไม่ได้ ซึ่งจะแตกต่างจาก ส.ส.

4.ในการเลือกตั้งใหญ่หรือที่เรียกว่าการเลือกตั้งทั่วไปนั้น พรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดก็จะมีสิทธิได้เป็นรัฐบาล ซึ่งโดยทั่วไปหัวหน้าพรรคดังกล่าวนั้นก็จะเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็จะเลือกบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาเป็นรัฐมนตรีโดยจะเลือกจาก ส.ส.หรือบุคลใดก็ได้ เราเรียกนายกและรัฐมนตรีต่างๆรวมกันว่าคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเหล่านี้ก็จะพ้นจากการเป็น ส.ส. หรือก็คือพ้นจากการเป็นฝ่ายนิติบัญญํติไปเป็นฝ่ายบริหารนั่นเอง


5.การเลือกตั้งที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งก็คือ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. นั่นเอง เนื่องจากวุฒิสภาก็ถือเป็นสภานิติบัญญัติเช่นกัน มีหน้าที่ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบกฎหมายที่จะประกาศใช้ ดโดย ส.ว. จะต้องมีความเป็นกลาง ไม่เข้าฝักใฝ่ฝ่ายใด ดังนั้นผู้ที่จะสมัครเป็นเข้ารับเลือกตั้งเป็น ส.ว. จะต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองใด เดิมที ส.ว. จะมาจากการแต่งตั้ง แต่เนื่องจากการแต่งตั้งนั้นทำให้เกิดปัญหาเล่นพรรคเล่นพวกกันมาก จึงเปลี่ยนมาเป็นแบบเลือกตั้งในปัจจุบัน วุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎรจะแยกจากกันต่างหาก ดังนั้นแม้จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภาก็จะไม่พ้นจากสถานภาพไปด้วย

6.ในส่วนของกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัตินั้น เช่น พระราชบัญญัตินั้น ถ้าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งแล้วเข้ามาเป็นรัฐบาลมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมากเกินไปในสภา การออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนนโยบายของฝ่ายบริหาร ก็ทำได้ง่าย ซึ่งถ้ารัฐบาลนั้นมีความหวังดีมีความตั้งใจที่จะพัฒนาประเทศชาติจริงๆ ก็ถือเป็นเรื่องดีไป แต่ถ้าหวังแต่เพียงเข้ามากอบโกยประโยชน์เพียงอย่างเดียว ก็อาจเสนอกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคพวกของตน แล้วอาศัยเสียงที่มีมากในสภาผู้แทนราษฎรดันให้กฎหมายนั้นผ่านออกใช้บังคับ ก็อาจจะมีผลเสียต่อประเทศอย่างร้ายแรงได้ นอกจากเรื่องการผลักดันกฎหมายแล้วก็อาจมีเรื่องอื่นๆอีก เช่น การเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ต้องมี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ถ้า ส.ส. เป็นคนของรัฐบาลมากเกินไป การเข้าชื่อเสนอญัตติก็ทำได้ยาก เช่นเดียวกับเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ คือ พรรคฝ่ายค้านมีจำนวน ส.ส. ไม่ถึง 2 ใน 5 เนื่องจากส่วนมากจะเป็น ส.ส. ของฝ่ายรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถอิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “เผด็จการรัฐสภา”

7.ตามทฤษฎีแล้วฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องมีการคานอำนาจกัน คือฝ่ายบริหารจะต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติได้ เช่น การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่างๆ ส่วนฝ่ายบริหารก็มีอำนาจยุบสภาได้ ซึ่งจะทำให้สถานภาพของ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ส.ส. กับรัฐบาล อาจเอื้อประโยชน์ให้แก่กันได้(ลองศึกษาจากความรู้เพิ่มเติมในข้อ 6) ดังนั้นเราจึงต้องเลือกคนดีมีความรู้เข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อจะได้มีความเป็นกลางและปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติอย่างเต็มที่ แม้จะเป็นไปได้ยากก็ตาม




อ้างอิง
1.คำบรรยายหลักกฎหมายเอกชน รศ.ณัฐพงศ์ โปษกะบุตร,รศ.พรชัย สุนทรพันธุ์
2.ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก รศ.กำธร กำประเสริฐ,รศ.สุเมธ จานประดับ
3.คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(พ.ศ.2540) ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวบรวมโดย พิชัย นิลทองคำ ผู้พิพากษา
5. http://www.samutsakhon.info/index.php
6.พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2540

น้ำยางพาราไร้แอมโมเนีย







งานชิ้นต่อไปเป็นการแก้ไขปัญหาของการใช้แอมโมเนียซึ่งมีกลิ่นรุนแรงมาก เมื่อระเหยสู่บรรยากาศจะทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ครับ

น้ำยางพาราไร้แอมโมเนีย
13 พฤศจิกายน 2551
ยางธรรมชาติหรือยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งได้มีการใช้ทั้งภายในประเทศและส่งออกสู่ต่างประเทศ นำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างต่อเนื่องเป็จำนวนมาก ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาด้านยางพาราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้นำของ
โลกการเก็บรักษาน้ำยางธรรมชาติก่อนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นั้น จำเป็นต้องมีการใส่สารเคมีที่ช่วยในการรักษาสภาพของน้ำยางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจับตัวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Spontaneous coagulation) และการเน่า (Putrefaction) ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังจากน้ำยางได้ถูกกรีดจากต้นในระยะเวลาไม่นาน ปัจจุบันในอุตสาหกรรมยางโดยทั่วไปแล้วแอมโมเนียถูกใช้ในหน้าที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่แอมโมเนียเป็นสารที่ระเหยง่ายและมีกลิ่นรุนแรงมาก เมื่อระเหยสู่บรรยากาศจะทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม และยังส่งผลให้ยากต่อการควบคุมคุณสมบัติของน้ำยางธรรมชาติในระหว่างการเก็บรักษาให้คงที่อีกด้วย

ดร. สุรพิชญ ลอยกุลนันท์, นางฉวีวรรณ คงแก้ว,นางสาวอรพินท์ ชัยกำพลเลิศและคณะ เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงวิจัยและพัฒนาหาสารเคมีที่ช่วยในการรักษาสภาพของน้ำยางชนิดใหม่ที่ปราศจากการใช้แอมโมเนียซึ่งแตกต่างจากการรักษาสภาพน้ำยางในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง พบว่าการใช้สารประกอบเมทิลออล (TAPP) ในการรักษาสภาพน้ำยางสามารถแก้ปัญหาที่เกิดกับน้ำยางที่ใช้แอมโมเนียในปัจจุบัน และส่งผลกระทบในเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมน้ำยางพาราในหลายด้าน เช่น สามารถได้น้ำยางพาราที่ไม่มีกลิ่นไม่เกิดการแปรปรวนสมบัติของยางอันเนื่องมาจากการระเหยของสารรักษาสภาพปราศจากการใช้ TMTD ซึ่งก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง ความเป็นด่างไม่สูง ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ และไม่กัดกร่อนโลหะที่สัมผัสน้ำยาง
ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ
การใช้สารรักษาสภาพชนิดใหม่นี้จะช่วยลดมลพิษทางอากาศ เพิ่มคุณภาพชีวิตของบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับน้ำยาง ตั้งแต่ชาวสวนจนถึงผู้นำน้ำยางพารามาทำเป็นผลิตภัณฑ์รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เขตโรงงานที่มีการใช้น้ำยางพารา และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมวัสดุและสิ่งก่อสร้างที่สัมผัสน้ำยาง นอกจากนี้ที่สำคัญ คือ สามารถเพิ่มขอบเขตการนำน้ำยางพาราไปใช้งานอีกด้วย
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( 17 พฤศจิกายน 2008 )
ขอขอบคุณข้อมูลงานวิจัยดีๆมีประโยชน์จาก MTEC
Copyright © 2008 National Metal and Materials Technology Center114 Thailand Science Park Paholyothin Rd., Klong 1, Klong Luang, Pathumthani 12120 Thailand Tel.: 66 2564-6500

งานวิจัยยางพาราไทย


วันนี้ขอนำเสนองานวิจัยใหม่ๆจากMTEC ฝีมือคนไทยช่วยพัฒนาการใช้ยางพาราของไทย
โคงการศึกษาและพัฒนาต้นแบบยางธรรมชาติทนความร้อนและโอโซน
13 พฤศจิกายน 2551
แม้ว่า ยางธรรมชาติ (NR) จะเป็นยางที่มีสมบัติเชิงกลดีเยี่ยมและมีความยืดหยุ่นสูง แต่เนื่องจากยางธรรมชาติมีพันธะคู่อยู่ในปริมาณที่สูงมาก ดังนั้น ยางธรรมชาติจึงเกิดการเสื่อมสภาพได้ง่าย ไม่ทนต่อออกซิเจน ความร้อนและโอโซน ซึ่งข้อด้อยดังกล่าวทำให้การใช้งานของยางธรรมชาติค่อนข้างจำกัดเพราะไม่ สามารถนำยางธรรมชาติไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการใช้งานกลางแจ้งหรือ ที่ต้องสัมผัสกับความร้อนหรือโอโซนสูงๆได้ ด้วยเหตุนี้ โครงการวิจัยนี้จึงเน้นที่จะศึกษาและปรับปรุงสมบัติความทนทานต่อความร้อนและ โอโซนของยางธรรมชาติโดยการนำเทคโนโลยียางผสม (Rubber Blend) มาประยุกต์ใช้ปัจจุบัน คณะผู้วิจัยสามารถพัฒนาต้นแบบยางธรรมชาติทนความร้อนและโอโซนในระดับห้อง ปฏิบัติการได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยต้นแบบยางธรรมชาติที่พัฒนาได้จะมีเนื้อยางธรรมชาติอยู่สูงถึงร้อยละ 80 แม้ว่าต้นแบบยางธรรมชาติที่พัฒนาได้ดังกล่าว จะมีสมบัติเชิงกลด้อยกว่ายางธรรมชาติทั่วไปเล็กน้อย แต่ต้นแบบยางธรรมชาติดังกล่าวก็มีสมบัติความทนทานต่อทั้งความร้อน และโอโซนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ
องค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงข้อด้อยหลักของยางธรรมชาติ ทำให้สามารถนำยางธรรมชาติไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งหากสามารถ ผลิตยางธรรมชาติทนความร้อนและโอโซนไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างสูงเพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการนำเข้ายางสังเคราะห์จากต่างประเทศอีกด้วยคณะผู้ร่วมวิจัยรศ.ดร. ชาคริต สิริสิงห, นายอุทัย เทพสุวรรณ์,นางสาวนิโลบล ผิวทองอิน และนายฐานันดร วันทะนะ
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( 17 พฤศจิกายน 2008 )

ขอขอบคุณข้อมูลจากMTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ