วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การเตรียมสวนยางก่อนเข้าฤดูแล้ง






















การเตรียมสวนยางก่อนเข้าฤดูแล้ง
ช่วงฤดูหนาว ต่อเนื่องไปถึงช่วงฤดูร้อน กระแสลมที่พัดรุนแรง ประกอบกับแสงแดดที่แผดกล้า เป็นสาเหตุให้ดินแห้ง ขาดความชุ่มชื้น ก่อผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพืช ในช่วงนี้จึงนับเป็นช่วงสำคัญที่อาจสร้างความเสียหายแก่สวนยางได้จากหลายๆสาเหตุ หากขาดการดูแลและจัดการที่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนยางปลูกใหม่ และสวนยางเล็ก อายุไม่เกิน 3 ปี
การจัดการสวนยางที่ดี ควรเริ่มเตรียมการเสียแต่เนิ่นๆ ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ช่วงแล้งประมาณ 1 เดือน ขณะดินมีความชุ่มชื้นอยู่สูง เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการกำจัดวัชพืชในสวนยาง พร้อมทำแนวกันไฟ หาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาคลุมโคนต้นยาง ตัดแต่งกิ่งเพื่อลดแรงต้านลม เหล่านี้ เป็นต้น
การจัดการสวนยางอย่างถูกต้องเหมาะสม และหมั่นตรวจตราดูแลสวนยางอย่างสม่ำเสมอ จักช่วยลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลภัยแล้งเหล่านี้อย่างได้ผล
การบำรุงรักษาสวนยาง
• กำจัดวัชพืชในสวนยาง
ภายในสวนยาง ระหว่างแถวยางที่มีวัชพืชขึ้นสูง และหนาแน่นในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ควรใช้วิธีถาก หรือหวดชิดดิน แล้วเก็บเศษซากวัชพืชออกไปคลุมโคนต้นยาง ไม่ควรใช้วิธีฉีดพ่นสารเคมี เนื่องจากวัชพืชที่ยืนต้นตาย อาจเป็นเชื้อไฟอย่างดี หากมีไฟลามเข้ามาในสวน
• ใส่ปุ๋ยบำรุง
เมื่อปราบวัชพืชเรียบร้อยแล้วให้ใส่ปุ๋ยบำรุงทันทีในช่วงปลายฤดูฝนขณะที่ดินมีความชื้น เพื่อให้ต้นยางมีความสมบูรณ์และแข็งแรงเพียงพอที่จะรอดตายผ่านหน้าแล้งได้ งดการใส่ปุ๋ยในช่วงแล้ง เพราะการใส่ปุ๋ยในช่วงแล้งไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อต้นยาง นอกจากสิ้นเปลืองแล้วต้นยางอาจเกิดอันตรายเสียหาย เนื่องจากปริมาณความชื้นในดินต่ำเกินไปไม่เพียงพอที่จะละลายปุ๋ยให้ต้นยางใช้ได้ หากมีฝนตกบ้างแต่ไม่มากพอที่จะละลายปุ๋ยได้ ปุ๋ยที่เกาะตามรากกลับดึงความชื้นจากต้นยางไปใช้ ทำให้ต้นยางเหี่ยวเฉา และอาจเกิดโรครากเน่าตามมาได้
• คลุมโคนต้นยาง
ต้นยางอ่อนอายุระหว่าง 1-3 ปี ยางมีขนาดเล็กจึงขาดร่มเงา หรือมีร่มเงาน้อย การคลุมโคนต้นยางจึงเป็นวิธีการที่จำเป็นในการช่วยรักษาความชื้นในดินให้ชุ่มชื้นนานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อช่วยให้ต้นยางเจริญเติบโตดีขึ้น และสามารถรอดตายผ่านฤดูแล้งไปได้
วิธีการคลุมโคน ควรคลุมต้นยางก่อนเข้าหน้าแล้งประมาณ 1 เดือน โดยใช้วัสดุธรรมชาติ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมีปริมาณมาก ไม่มีต้นทุน หรือมีต้นทุนต่ำ เช่น เศษซากวัชพืช ซากพืชคลุม หญ้าคา ฟางข้าว คลุมพื้นที่บริเวณโคนต้นยางเป็นวงกลม
ประมาณ 1 เมตร หนาประมาณ 10 เซนติเมตร ห่างจากโคนต้นยาง 5-10 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ฝ่ามือ
หากมีวัสดุและแรงงานเพียงพอ ควรคลุมตลอดทั้งแถวยาง เพื่อช่วยให้การรักษาความชุ่มชื้นในดินดีขึ้น ทั้งยังช่วยป้องกันวัชพืชขึ้นในแถวยางได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง การคลุมโคนต้นยางในหน้าแล้ง วัสดุที่ใช้อาจติดไฟได้ง่ายควรระวังเหตุที่อาจทำให้เกิดไฟไหม้ด้วย
• การตัดแต่งกิ่ง
ในช่วงปลายฤดูฝนหลังจากปราบวัชพืชและใส่ปุ๋ยบำรุงแล้ว ต้นยางมักแตกกิ่งแขนงเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ทรงพุ่มหนัก ต้านทานลมมาก จนต้นโยกคลอน ส่งผลกระทบไปถึงรากแขนงที่เป็นแหล่งดูดอาหารแก่ต้นยาง จึงควรตัดกิ่งแขนงที่มากเกินออกไป ให้เหลือเพียง 2-3 กิ่ง ในทิศทางที่ทำให้ทรงพุ่มเกิดความสมดุล
การตัดแต่งกิ่งที่ถูกต้องควรดำเนินการดังนี้
- ใช้อุปกรณ์ที่สะอาด และมีความคม
- ตัดแต่งกิ่งให้ชิดกับลำต้น ไม่ควรโน้มต้นยางลงมาเพื่อตัดแต่งกิ่ง เพราะอาจทำให้ต้นยางเสียหายได้
- หลังตัดแต่งกิ่งควรใช้ปูนขาวหรือปูนแดงหรือสี ทาบริเวณที่ตัด
• การป้องกันรอยไหม้จากแสงแดด
ต้นยางที่ปลูกในเขตแห้งแล้ง มักปรากฏรอยไหม้ที่บริเวณโคน เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในลำต้นส่วนนั้นได้รับแสงแดดเป็นเวลานานติดต่อกันจนเกิดความเสียหาย เป็นรอยแผลทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ บ้างตื้น บ้างลึก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแสงแดดที่กระทบโคนต้นยางโดยตรง
ต้นยางอ่อนอายุ 1-3 ปี สามารถป้องกันรอยไหม้จากแสงแดด ก่อนเข้าหน้าแล้งได้ ด้วยการใช้ปูนขาวผสมน้ำอัตรา 1:1 ทิ้งไว้ค้างคืน ทาบริเวณโคนต้นตั้งแต่ส่วนที่ชิดกับผิวดินขึ้นมาจนสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร
สำหรับต้นที่เกิดรอยแผลให้ใช้สีน้ำมันทาปิดทับบริเวณรอยแผลทันทีที่พบ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลายซ้ำที่แผล และควรทาสีทับอีกครั้ง ก่อนเข้าหน้าแล้ง
• การป้องกันไฟไหม้ในสวนยาง
สาเหตุที่สวนยางเกิดไฟไหม้ อาจเกิดจากก้นบุหรี่ที่มีผู้ทิ้งไว้ หรือเกิดจากสวนข้างเคียงเกิดไฟไหม้แล้วลุกลามเข้ามาในสวนยาง หรือจากไฟป่าตามธรรมชาติ ประกอบกับในช่วงหน้าแล้งมีเชื้อไฟจากวัชพืชที่แห้งตาย วัสดุคลุมโคนต้นยางและใบยางร่วง ทำให้ไฟไหม้ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
การป้องกัน
- ทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไฟที่ลุกลามมาจากบริเวณข้างเคียง โดยการขุด ถาก
วัชพืช และเก็บเศษซากพืช หรือไถบริเวณรอบสวนยาง ออกเป็นแนวกว้างประมาณ 3 - 5 เมตร สำหรับ
สวนยางขนาดใหญ่ ควรทำแนวกันไฟ ภายในสวนระหว่างแถวยางทุก ๆ 100 เมตร
- การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดวัชพืชบริเวณแถวยางออกให้หมดข้างละ 1 เมตร ใช้วิธีถาก หรือตัดออก แล้วนำเศษมาคลุมโคนต้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในหน้าแล้ง เพราะวัชพืชที่ยืนแห้งตายอาจเป็นเชื้อไฟได้อย่างดี
การแก้ไขเมื่อต้นยางถูกไฟไหม้
ในกรณีที่ถูกไฟไหม้ไม่รุนแรงนัก ควรใช้ปูนขาวผสมน้ำอัตรา 1:1 ทิ้งไว้ค้างคืน
แล้วทาลำต้น เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด และป้องกันต้นยางสูญเสียน้ำ รวมทั้งโรคและแมลงอาจเข้าทำลาย หากเปลือกต้นยางบริเวณที่ถูกไฟไหม้แตกออก ให้ใช้มีดคม ๆ ปาดเอาส่วนที่เสียหายออก แล้วใช้สีน้ำมันทาปิดทับ เพื่อช่วยให้รอยแผลหายได้เร็วขึ้น หากต้นยางได้รับความเสียหายจนไม่อาจรักษาหน้ายางได้เกินร้อยละ 40 ของทั้งสวน ควรทำการปลูกใหม่
--------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น: